“ราชทัณฑ์” แจง เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนาเป็นไปตามระเบียบฯ แต่ทนายความสามารถขอคุยกับผู้ต้องขังเป็นความลับได้ ยัน อาหารในเรือนจำผ่านการประเมิน
วันที่ 18 มิถุนายน 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีแกนนำราษฎร เปิดเผยกับ กมธ. ป.ป.ช. ถึงการดักฟังและคุณภาพอาหารในเรือนจำแย่ ว่า ตนในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 (5) กำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนา บันทึกภาพ หรือเสียงและตัดการสื่อสาร หากเห็นว่า ข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ข้อ 18 ระบุว่า หากทนายความต้องการจะสงวนข้อความที่พูดกับ ผู้ต้องขังเป็นความลับให้แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำทราบ ซึ่งในกรณีของ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน ไม่มีทนายความที่ขอใช้ระเบียบในข้อนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีแนวทางปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่แจ้งให้ทนายความและญาติถือปฏิบัติอย่างชัดเจน
นายอายุตม์ฯ กล่าวอีกว่า 2. กรณีเรื่องการจัดเลี้ยงผู้ต้องขัง ทางเรือนจำปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีคณะกรรมการจัดซื้อ โดยวิธีคัดเลือกและมีคณะกรรมการตรวจรับโดยเรือนจำได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารดิบ 44.17 บาท/คน/วัน ค่าข้าวสาร 6.42 บาท /คน/วัน (380 กรัม /คน/วัน) และเรือนจำจัดเมนูตามคำแนะนำของนักโภชนาการของทัณฑสถานโรงพยาบาลที่ต้องมีการคำนวณปริมาณแคลอรี่ และคุณภาพทางโภชนาการที่เพียงพอต่อผู้ต้องขังในแต่ละมื้อ รวมทั้งเรือนจำได้ให้หน่วยงานสาธารณสุขภายนอกเข้าตรวจประเมินปีละ 2 ครั้ง โดยเรือนจำผ่านเกณฑ์ประเมินทั้งสองครั้ง ในส่วนของอาหารอิสลาม เรือนจำได้รับการประเมินผ่านเกณฑ์รับรองอาหารฮาลาล
นายอายุตม์ฯ กล่าวต่อว่า 3. กรณีการไม่สามารถสั่งซื้ออาหารพิเศษได้ ขอเรียนว่า ผู้ต้องขังทุกคนสามารถ ซื้อสินค้าอุปโภค - บริโภค ในร้านค้าย่อยในเรือนจำได้ รวมทั้งสามารถให้ญาติซื้อฝากจากร้านสงเคราะห์ฯ ภายนอก ของเรือนจำ ในอัตราวันละ 500 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ จึงเพิ่มเป็นวันละ 600 บาท ในกรณีของ นายพริษฐ์ฯ เนื่องจากประกาศ อดอาหาร เรือนจำจึงนำตัวมาคุมขังที่สถานพยาบาล ชั้น 2 ร่วมกับผู้ต้องขังอื่น เพื่อเฝ้าระวังอาการ และในการสั่งซื้ออาหารของสถานพยาบาล จะให้ผู้ต้องขังบันทึกขออนุญาตซื้ออาหารตามที่มีจำหน่ายตามร้านสงเคราะห์ฯ ในเรือนจำ ซึ่งในส่วนของนายพริษฐ์ฯ ไม่มีการจัดซื้ออาหารแต่อย่างใด เนื่องจากประกาศอดอาหาร และในกรณีของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ขณะที่ถูกควบคุมตัว บิดาและมารดาได้มาซื้อของใช้และอาหารให้เป็นประจำ ต่อมาได้ประกาศอดอาหาร ทัณฑสถานหญิงกลางได้จัดเตรียมอาหารสำหรับจัดเลี้ยง แต่นางสาวปนัสยาฯ ปฏิเสธ ทั้งนี้ มารดาของนางสาวปนัสยาฯ ได้สั่งซื้อเครื่องดื่ม เช่น นมหรือน้ำหวานให้แก่นางสาวปนัสยาฯ โดยตลอด