เมื่อวันที่ 17มิ.ย.63 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์​ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง การประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ตอนที่ 4 (ต่อ) ระบุว่า "ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่สามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี โดยไม่มีการลาออก ยุบสภา หรือถูกรัฐประหาร ครบวาระเมื่อวันทึ่ 5 มกราคม 2548 แน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งใหม่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ ได้ที่นั่งทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส. บัญชีรายชื่อรวมกันถึง 376 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในขณะที่พรรคประชาธืปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง เป็นฝ่ายค้านต่อไปเช่นเดิม วันที่ 10 เมษายน 2548 หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 2 เดือนเศษทักษิณก็ทำเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั่นคือ จัดพิธีทำบุญประเทศโดยตัวเองเป็นประธานในพิธี ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) เท่าที่มีหลักฐาน ปรากฏ นับเป็นครั้งแรกที่สามัญชนนั่งเป็นประธานในพิธี ที่จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความมั่นคงของรัฐบาลทักษิณน่าจะยิ่งมายิ่งมั่นคง เพราะคุมเสียงในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะข่าวการทุจริต การกระทำที่มิบังควรทั้งหลาย ทั้งเรื่องการทำบุญประเทศ ทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 และคำพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายโอกาส ได้ซึมซับอยู่ในหัวใจคนไทยกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่ากลุ่มรากหญ้า ฟางเส้นสุดท้ายคือเรื่องการขายหุ้นชินคอปอเรชั่น ที่มีอยู่ 49.595%ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ ในปี 2549 ซึ่งมีความไม่ถูกต้องในฐานะนายกรัฐมนตรีหลายประการ ประการที่ 1 การขายกิจการที่ได้สัมปทานดาวเทียมจากรัฐให้ต่างชาติ เป็นการกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เหมาะสมที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพึงกระทำ ประการที่ 2 ทักษิณอ้างว่าเป็นธุรกิจของภรรยาและลูกไม่ใช่ของตัวเอง ข้ออ้างนี้เป็นการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพราะใครก็ทราบว่าเจ้าของกิจการดาวเทียมตัวจริงคือใคร เรียกได้ว่าเป็นการโกหกประชาชนทั้งประเทศ แต่น่าแปลกที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อข้ออ้างนี้ของทักษิณ ประการที่ 3 ได้มีการแก้ไขพรบ โทรคมนาคม ให้คนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมจากเดิมไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 50% หลังจากแก้กฎหมายได้ 2 วัน ก็ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีอยู่ 49.595% ให้เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ประการที่ 4 การขายหุ้นเป็นมูลค่าถึง 73,274 หมื่นล้านบาท ทักษิณสามารถเลี่ยงภาษีได้ทั้งหมด ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่สตางค์แดงเดียว เนื่องจากทักษิณไปเปิดบริษัท Ample Rich ไว้ที่ British Virgin Island ให้เป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ป หากขายให้เทมาเส็กโดยตรง จะต้องเสียภาษี จึงขายหุ้นให้กับลูกชายเสียก่อนในราคาต่ำที่ไม่มีกำไร( เพราะถ้ามีกำไรต้องเสียภาษี) แล้วจึงให้ลูกชายขายให้เทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพราะบุคคลธรรมดาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี ภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษาให้ยึดทรัพย์ทักษิณกว่า 4.6 หมื่นล้าน นอกจากประเด็นเรื่องการเลี่ยงภาษีแล้ว ยังเป็นที่น่ากังขาว่า การที่รัฐบาลทักษิณให้สิงคโปร์มาใช้สนามบินอุดรธานี ตั้งแต่ปี 2547 โดยทำ MOU เป็นระยะเวลาถึง 15 ปี แลกกับเครื่องบิน F 16 A และ B ใช้แล้วจำนวน 7 ลำ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ให้สิงคโปร์ใช้ประโยชน์ทางการทหารที่สนามบินไทย บนน่านฟ้าไทย เป็นเรื่องสมควรหรือไม่ การให้สิงคโปร์ใช้สนามบินอุดรธานี เกี่ยวข้องกับการเจรจาขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับเทมาเส็กในปี 2549 หรือไม่ หลังจากข่าวการขายชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษีแพร่ออกไป มีคนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ หนึ่งในนั้นคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ที่ชักชวนทักษิณเข้าสู่การเมือง พลตรีจำลอง เขียนจดหมายเปิดผนึก ถึงทักษิณ ขอให้ยอมจ่ายภาษีตามที่ควรจ่าย แต่ไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณจึงเริ่มต้นขึ้น มีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเคยจัดรายการทีวี “ เมืองไทยรายสัปดาห์” ทางทีวีช่อง 9 โจมตีทักษิณเป็นประจำ ถูกถอดออกจากผังรายการ จึงออกมาจัดปราศรัยโจมตีทักษิณแบบสัญจรในสถานที่ต่างๆ เริ่มจากที่สวนลุมพินี การชุมนุมมีคนเข้าร่วมด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแกนนำเพิ่มขึ้น ได้แก่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ รวมตัวกันเรียกว่า“ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”การชุมนุมยังคงมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักพัน เป็นหลักหมื่น เป็นหลักแสน 24 กุมภาพันธ์ 2549 ทักษิณประกาศยุบสภา หนีการอภิปรายของฝ่ายค้านเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ป โดยเชื่อว่า การเลือกตั้งใหม่จะแก้ปัญหาทุกอย่างรวมทั้งปัญหาการชุมนุมประท้วงได้ เพราะอย่างไรประชาชนจะต้องเลือกพรรคไทยรักไทยกลับมาอีกครั้ง ซึ่งสามารถอ้างได้ว่าประชาชนยังคงต้องการเขาอยู่ ที่ทักษิณไม่ได้คาดคิด คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนประกาศคว่ำบาตร โดยไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และมีการรณรงค์ให้ “no vote” นำโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประชาชนร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก ผลเลือกตั้ง ยังคงเป็นพรรคไทยรักไทยที่ได้จำนวนส.ส.มากเป็นที่ 1 แต่ประชาชนที่ประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง อีกทั้งมีหลักฐานการทุจริต กรรมการกกต. ถูกยื่นฟ้องว่าเอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทย ศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุก แต่ในที่สุดศาลฎีกายกฟ้อง ข้อครหาคือการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เหมาะสม เนื่องจากคูหาเลือกตั้งจำนวนมาก หันหลังออกด้านหน้าหน่วยเลือกตั้งทำให้มองเห็นได้ว่าผู้ลงคะแนนกาบัตรเลือกตั้งอย่างไร มีบัตรเสียมากอย่างผิดปกติ และมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนถึง 31.12% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ อีกประการ การคว่ำบาตรการเลือกตั้งทำให้หลายเขตมีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ทำให้ไม่มีคู่แข่ง กรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ลงสมัครต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20 % ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จึงจะถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แต่มีหลักฐานปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยไปว่าจ้างพรรคเล็กๆให้ส่งคนลงสมัครเพื่อจะได้มีคู่แข่ง ทำให้ไม่ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20% ภายหลังพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคก็เพราะเหตุนี้ ขณะนั้นบ้านเมืองเกิดความชะงักงัน การเลือกตั้งมีปัญหา การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถึงกับมีผู้เรียกร้องขอนายกพระราชทาน โดยใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 25 เมษายน 2549  ที่วังไกลกังวล ผู้พิพากษาศาลปกครอง และต่อมาในวันเดียวกัน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้เข้าเฝ้าบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญานตนก่อนทำหน้าที่ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้โอกาสนี้ มีพระราขดำรัสกับคณะผู้พิพากษา มีใจความว่า การให้มีนายกพระราชทานนั้น ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่อาจใช้มาตรา 7 ได้ แต่บ้านเมืองมีปัญหา ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ พระองค์จึงทรงฝากให้ผู้พิพากษาทั้งหมดให้ ช่วยกันใช้กฎหมายหาทางออกให้บ้านเมือง หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” โดย อ.ธีรยุทธ บุญมี กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่มีการทำรัฐประหารเสียก่อนโดยพลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะร้ฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะทักษิณเดินทางไปนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประขาชาติ ข้ออ้างของการทำรัฐประหารคือ เพื่อป้องกันการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มสนับสนุนทักษิณ ที่เริ่มมีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของคนเสื้อแดงในปัจจุบัน จบตอน 4"