“ยอดชาย เจริญศิลป์” หัวหน้าวงและพระเอกหมอลำเรื่องต่อกลอนรุ่นบุกเบิกเมืองน้ำดำ และกรรมการสมาคมหมอลำจังหวัดกาฬสินธุ์ โอดกิจกรรมเงินล้านไลฟ์สดของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2564 แต่กลับจ้างศิลปินดังร่ำรวยอยู่แล้วและส่วนใหญ่เป็นศิลปินต่างถิ่นมาร้องเพลงเพื่ออะไร ข้องใจทำไมถึงไม่สนับสนุนหมอลำพื้นที่และศิลปินพื้นบ้านท้องถิ่นตนเองที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากพิษสถานการณ์โควิด-19 พ้องานฟรีเชิญ แต่งานได้เงินไม่เคยคิดถึง
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 จากกรณีมีการแชร์ในสื่อโซเชียลและกลุ่มไลน์ต่างๆ ถึงการจัดงานไลฟ์สดการจัดงานตามรอยของดีเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “บวร ออนทัวร์” ระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย.64 โดยนำเสนอผ่านศิลปินที่มีชื่อเสียง พร้อมเปิดตัวสินค้าทางวัฒนธรรม CPOT จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์เป็นแม่งานหลัก ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป กำหนดใช้สถานที่จัดงานที่โรงแรมริมปาวนั้น
โดยกรณีดังกล่าวทำให้ศิลปินหมอลำ และศิลปินท้องถิ่นที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ต่างตั้งข้อสังเกตและเกิดความสงสัยว่าสาเหตุใดสำนักงานวัฒนธรรมจึงให้ความสนใจและส่วนใหญ่จ้างศิลปินดังร่ำรวยอยู่แล้วและส่วนใหญ่เป็นศิลปินต่างถิ่นมาร้องเพลง แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับศิลปินพื้นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดของตนเองและมีอยู่หลายคน และกำลังประสบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีหลายคนตัดพ้องานฟรีเชิญ แต่งานได้เงินไม่เคยคิดถึง
โดยนายยอดชาย เจริญศิลป์ หัวหน้าวงและพระเอกหมอลำเรื่องต่อกลอนคณะยอดชาย เจริญศิลป์ และเป็นกรรมการสมาคมหมอลำจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งทราบว่าจะมีการจัดงานดังกล่าวในสื่อโซเชียล ซึ่งรู้สึกงงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดงานในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการจัดงานใหญ่ในระดับจังหวัด ซึ่งฝ่ายจัดงานควรจะมีการประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เหมือนการจัดงานต่างๆที่ผ่านมาที่เคยประสานและให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่การจัดงานครั้งนี้ตนไม่ได้รับการประสานเลย หากเป็นลักษณะนี้ก็คาดว่าศิลปินหมอลำชาวกาฬสินธุ์หลายคน ที่เป็นคนท้องที่ ท้องถิ่นในจ.กาฬสินธุ์เคยร่วมงานกับสำนักงานวัฒนธรรมคงจะไม่ได้รับการการประสานเช่นกัน และเท่าที่ทราบตามที่ประกาศรายชื่อศิลปินร่วมงานไลฟ์สดส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่เป็นศิลปินดังและเป็นชาวกาฬสินธุ์เพียง 3 คนเท่านั้น
นายยอดชาย กล่าวอีกว่า จากการสอบถามบุคคลในวงการเดียวกัน ทราบว่าวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านชาวกาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน และเชิญศิลปินนอกพื้นที่เข้ามาทำการแสดง โดยมีการออกแบบการจัดงานเป็นไลฟ์สด ซึ่งลักษณะการจัดงานดังกล่าวเหมือนมองข้ามศิลปินพื้นบ้านที่เป็นชาวกาฬสินธุ์แท้ๆ ทำให้ศิลปินพื้นบ้านชาวกาฬสินธุ์ที่มีความตั้งใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมของอีสานและของกาฬสินธุ์ เสียโอกาสในการแสดง ทำไมถึงไม่สนับสนุนหมอลำพื้นที่และศิลปินพื้นบ้านท้องถิ่นตนเองที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากพิษสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยไปช่วยงาน แม้จะเป็นงานฟรีเชิญ แต่งานครั้งนี้ไม่คิดถึง สำหรับตนถึงแม้ว่าในช่วงโควิด-19 จะไม่มีงานแสดงเข้ามา แต่ก็หาทางออกโดยขายสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งพอจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้บ้าง แต่ในขณะที่หมอลำคนอื่นๆ ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ที่เขายังไม่มีทางเลือก และรอคอยการช่วยเหลือเยียวยาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้จะอยู่กันยังไง จึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานได้ทบทวนการจัดงานครั้งนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนหมอลำพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจริงๆ