ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ก่อนที่เราจะไปพิจารณาถึงประเด็นการเจรจาเพื่อยุติปัญหาปาเลสไตน์ด้วยการเจรจาทางการเมืองนั้น ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่ประชาชนคนไทยไม่ค่อยสนใจปัญหานี้เท่าไร เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีผลกระทบกับประเทศเราโดยตรง แต่ปัญหาปาเลสไตน์นี้ ผู้เขียนมองว่าอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่สงครามใหญ่ได้ หรืออาจบานปลายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งก็ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน ทำไมผู้เขียนจึงมองอย่างนั้น ก็ขอนำเอาบางเหตุผลมาอธิบายดังนี้ ประการแรก คู่กรณีของปาเลสไตน์ก็คือ ประเทศอิสราเอล และการจัดตั้งประเทศนี้ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศอิสราเอลยังฝ่าฝืนมติของสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาตินับจำนวนหลายสิบมติ นั่นย่อมแสดงว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอิสราเอลที่ปฏิบัติต่อปาเลสไตน์ด้วยมาตรการต่างๆ รวมทั้งการขยายการตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้าไปในดินแดนที่ใช้กำลังทหารไปยึดครอง แต่ที่ประเทศอิสราเอลสามารถยืนหยัดกระทำการอันไม่ชอบเหล่านี้ได้ เพราะมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทำไมสหรัฐฯจึงหนุนหลังอิสราเอลอย่างเต็มกำลังแบบนี้ นั่นก็เป็นเพราะลัทธิยิวไซออนิสต์มีอิทธิพลครอบงำการเมืองในสหรัฐฯอย่างเต็มที่ ทั้งในสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา แม้แต่รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญในรัฐบาลไบเดน ก็มีคนของยิวไซออนิสต์ถึง 7 คน เป็นรัฐมนตรี ทางด้านปาเลสไตน์นั้น นับว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบหลายขุม โดยประการแรก มีความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มอำนาจสำคัญ 2 กลุ่ม คือฟาตาร์ที่มีฐานอยู่ในเวสต์แบงบ์ กับ ฮามาส ที่มีอำนาจปกครองในกาซา ในความเป็นจริงทุกวันนี้ฮามาสจะได้รับความนิยมจากชาวปาไลสไตน์มากขึ้นเพราะยืนหยัดต่อต้านอิสราเอลในการยึดครองปาเลสไตน์มาโดยตลอด ส่วนฟาตาร์ดูจะเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆและเสพสุขจากอำนาจ กระนั้นก็ตามปาเลสไตน์ก็ยังมีพันธมิตรที่อาจเข้าช่วยเหลือโจมตีอิสราเอลได้ เช่น ซีเรียที่ต้องการเอาคืนที่ราบสูงโกลาน ที่อิสราเอลยึดครองไปในสงครามกลุ่มอิซบุลลอฮ์ในเลบานอน ที่มีดินแดนติดอิสราเอล และที่สำคัญคืออิหร่านที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในตะวันออกกลาง ด้วยการสนับสนุนอิรักให้ปลดแอกจากสหรัฐฯ สนับสนุนซีเรียให้ปราบปรามกลุ่มกบฏและกองกำลังก่อการร้ายไอซิส นอกไปจากนั้นรัสเซีย จีน และตุรกีก็ยังมีความโน้มเอียงที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์แม้จะไม่เต็มที่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นการบ่อนทำลายสหรัฐฯในทางอ้อมได้ก็คงไม่ละเว้น ดังนั้นถ้าความขัดแย้งนี้ขยายตัวออกไปโดยเฉพาะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐอาหรับทั้งหลาย โดยชนชั้นปกครองที่เสวยสุขอย่างฟุ่มเฟือย ถูกประชาชนโค่นล้มลงมา ก็มีแนวโน้มว่าประเทศอาหรับเหล่านั้นจะกลับมาสนับสนุนปาเลสไตน์ แทนการผูกมิตรกับอิสราเอลอย่างในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะการที่ประเทศอาหรับหลายประเทศผูกมิตรกับอิสราเอลก็ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ หนึ่งเพราะตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ สองเพราะตนเองมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผูกมิตรนั้น แต่โดยรวมแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และก็ต้องนับรวมเอาอียิปต์ภายใต้การปกครองของนายพลซีซีที่ยึดอำนาจการปกครองด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯเข้ามาด้วย ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดสงครามและบานปลายไปสู่การเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 การเจรจาทางการเมืองจึงเป็นทางออกที่จำเป็น อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่เคยมีการเจรจาทางการเมืองมาก่อน วันที่ 13 กันยายน 1993 อิสราเอลและ PLO หรือองค์การการปลดปล่อยปาเลสไตน์ได้ลงนามประกาศหลักการที่เรียกว่าข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) จนต่อมานายยัส เซอร์ อาราฟัต ผู้นำ PLO นายยิตฮัค ราบิน และรมต.ต่างประเทศอิสราเอล นายชิมอน เปเรส ต่างได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และทำให้หลายฝ่ายต่างโล่งอกเพราะคิดว่าคงจะเกิดสันติภาพในปาเลสไตน์ แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาข้อตกลงนี้ และที่มาต่างก็เชื่อกันว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ เรื่องข้อตกลงออสโลนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะต้องล้มเหลวอย่างแน่นอนอยู่หลายประการ แต่เอาที่เป็นประเด็นบางประเด็นมากล่าวถึงในบทความนี้ก็จะเห็นว่ามันล้มตั้งแต่ยังไม่มีข้อตกลงแล้ว ประการแรกมันเป็นการเจรจาที่ไม่เท่าเทียมกัน คือ ฝ่ายหนึ่งได้รับการยอมรับโดยสหรัฐฯและมติองค์การสหประชาชาติว่า เป็นรัฐ นั่นคืออิสราเอล แต่อีกฝ่ายเป็นเพียงองค์การเท่านั้น แม้ต่อมาจะได้รับการยอมรับเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ แต่ก็เป็นเพียงสมาชิกสังเกตการณ์เท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือ PLO หรือฟาตา ไม่ใช่ตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ทั้งปวง เพราะมันยังมีอีกหลายองค์กรที่มีอำนาจในบางส่วน และได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์บางส่วน อย่างเช่นผู้นำของกาซา ฮัยดัร อับดุลชาฟี และไฟซอล อัสฮุสนี แห่งเยรูซาเล็ม ประการต่อมามันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประเทศปาเลสไตน์เกิดขึ้น และยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ภายใต้ข้อตกลงการแบ่งเป็น 2 รัฐ ของออสโล เพราะรัฐปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ 2-3 ชิ้น ภายใต้การรอบล้อมของรัฐอิสราเอล อีกประการที่สำคัญ นอกจากความไม่ชัดเจนของพื้นที่ และ ประชากรแล้ว การไม่ยอมรับประชากรในกาซาให้กลับคืนที่เดิมของตนได้ก็เป็นปัญหา เพราะพื้นที่กาซานี้เดิมปกครองโดยอียิปต์ต่อเมื่ออียิปต์แพ้สงครามอิสราเอล พื้นที่นี้กลายเป็นที่ตั้งแคมป์ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคน และเขายังคงอยู่ที่นั่นตลอดมาเกิน 70 ปีแล้ว ในพื้นที่เพียง 360 ตร.กม.เท่านั้น ประการสุดท้ายปัญหาการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในพื้นที่ยึดครองที่ตามสัญญาไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน นอกจากจะให้ระงับลงชั่วคราว ซึ่งอิสราเอลก็ยังคงละเมิดอยู่ตลอดเวลาจนปัจจุบัน และปาเลสไตน์ก็ยังไม่ได้ตั้งเป็นประเทศเสียที ดังนั้นข้อตกลงออสโล ที่ให้มีการแบ่งแยกเป็น 2 รัฐ บนพื้นที่ปาเลสไตน์ นั่นคือให้จัดตั้งเป็นประเทศอิสราเอลและประเทศปาเลสไตน์ จึงล้มเหลวไม่เป็นท่า อนึ่งยังมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาปาเลสไตน์ คือการจัดตั้งเป็นรัฐเดียว สำหรับ 2 ชนชาติหลัก ซึ่งไม่น่าจะแบ่งเป็นชนชาติ เพราะเส้นแบ่งมันคือศาสนา คือยูดาห์กับอิสลาม เพราะในฝั่งยูดาห์นั้นประกอบด้วยหลายชนชาติที่อพยพเข้ามา ส่วนด้านปาเลสไตน์ แม้ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีศาสนาอื่นๆอยู่ด้วย เช่น คริสต์ ยูดาห์พื้นเมือง ดรุย และเพแกน ประเด็นการตั้งรัฐเดียวนี้ แม้จะมีเจตนาที่ดีเพื่อให้อยู่ร่วมกันโดยสันติ แต่มันก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นทั้งจากการเจรจาและทางปฏิบัติ เช่น การตั้งชื่อประเทศ ฝ่ายยิวต้องการใช้ชื่อเป็นรัฐยิว ส่วนปาเลสไตน์ต้องการให้เป็นรัฐอิสลาม เอาละตัดเรื่องศาสนาออกเป็นรัฐเฉยๆก็ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาปาเลสไตน์พูดอาหรับเขียนอาหรับ ยิวพูดภาษาฮีบรู ก็อาจตกลงกันได้ คือใช้ 2 ภาษาเป็นทางการก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือหากมีการรวมประเทศเป็น One State Binations จริง สัดส่วนประชากรจะเปลี่ยนไป ฝ่ายยิวยังคงไม่ยอมให้ชาวปาเลสไตน์อพยพกลับประเทศ ในขณะที่ยังสนับสนุนให้ยิวในยุโรปและสหรัฐฯอพยพเข้า อย่างนี้ตกลงกันยาก เหตุที่จะเป็นปัญหานั่นคือถ้าประเทศเกิดใหม่นี้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ใครมีเสียงข้างมากก็ได้ปกครองประเทศ อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็อาจแก้ไขได้ด้วยการกำหนดตำแหน่งและสัดส่วนของตำแหน่ง ในรัฐธรรมนูญอย่างเลบานอน เช่น ประธานาธิบดีเป็นคริสเตียน นายกฯเป็นมุสลิม ผบ.ทบ.เป็นดรุย เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดอิสราเอลจะไม่ยอมคืนอะไรที่ตนได้เปรียบไปแล้วจากการยึดครอง การตั้งรัฐในอุดมคติจึงเป็นไปได้ยากมาก และแนวโน้มของสงครามคงหนีไม่พ้น นอกจากการเมืองในสหรัฐฯจะเปลี่ยนแปลงจนยิวไซออนิสต์หมดบทบาทในการครอบงำรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนการเมืองในอิสราเอลหรืออิหร่าน แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายคงเหมือนเดิม และมีแนวโน้มจะแข็งกร้าวขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย