หมายเหตุ : แม้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านฉลุย แต่สถานการณ์การเมืองยังคุกรุ่น ยังมีการเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุบสภา หรือลาออก อย่างต่อเนื่อง
“ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ” ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ได้ให้ความเห็นผ่าน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยเชื่อว่ายังไม่มีปัจจัยทำให้นายกฯ ยุบสภา และคาดว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม แน่นอน
มองสถานการณ์การเมืองครึ่งเทอมหลังของรัฐบาล ทั้งในและนอกสภาฯเป็นอย่างไร
มีการประเมินว่าจะมีการยุบสภาภายใน 1 ปี ภายหลังการอภิปรายงบประมาณปี 2565 แต่ผมมองว่า ยังไม่มีปัจจัยที่ทำให้นายกฯ ตัดสินใจยุบสภา แต่ถ้าถามว่า ประเด็นที่จะทำให้นายกฯ ตัดสินใจยุบสภาท่ามกลางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผมมองว่าเป็นการหนีปัญหา แล้วจะกลับมาแก้อีกรอบจะทำให้ตอบสังคมยาก
ส่วนปัจจัยนอกสภาฯ คิดว่าสถานการณ์โควิด การรวมกลุ่มจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาล หรือสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล มันทำยากขึ้น
จึงประเมินได้ว่า วันนี้รัฐบาลจะทำงานอยู่ครบเทอม นอกจากมีปัจจัยภายนอกแรงๆ หลังจากนี้ ถึงจะทำให้นายกฯ ตัดสินใจยุบสภา ขณะที่เพื่อนส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เท่าที่พูดคุยส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่ ปัญหาการเมืองหลังจากนี้ไป คิดว่าทุกคนจะประคองในการทำงาน และแกนนำรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วย โดยในช่วงเทอมหลังนี้น่าจะเป็นการทำงานถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าแตกหัก แต่ถ้ามีการตัดสินใจแตกหักก็มีโอกาสเหมือนกัน นั่นคือพรรคร่วมรัฐบาล พรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัว ก็น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมได้
ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐ กับภูมิใจไทย ยังมีเอกภาพหรือไม่
ถ้าพูดข้างนอกคงไม่มีใครเชื่อ แต่ความเป็นจริงแล้วโดยส่วนตัวระหว่างนายกฯ กับรัฐมนตรีภูมิใจไทย มีการพูดคุยกันตลอด ไม่มีเสแสร้ง หรือพูดลับหลัง ในส่วน ส.ส. เองความสัมพันธ์ก็ถือเป็นปกติ มีการพูดคุยหารือถึงการทำงานในพื้นที่ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ฉะนั้นประเด็นที่มีความขัดแย้ง เป็นประเด็นที่บุคคลภายนอกมองดูว่ารุนแรง แต่พวกผมอยู่ข้างใน มองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่
การเป็นส.ส.สมัยแรก ในช่วงการเมืองเข้มข้น ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง อันดับแรกคือ การอภิปรายในสภา ซึ่งในอดีตใช้เวลาเยอะ อย่างน้อย 15-30 นาทีต่อคน และอีกฝ่ายจะมีการประท้วง ทำให้ไม่สามารถอภิปรายได้อย่างราบรื่น ชาวบ้านรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากฟัง ทั้งการอภิปรายงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่รอบนี้จะได้เห็นว่า เพื่อน ส.ส. มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ มีชาร์ตและใช้เวลาสั้นๆ เข้าใจง่าย และมีคนประท้วงน้อยมาก ทำให้พี่น้องประชาชนติดตามการประชุม โดยเฉพาะประเด็นที่ส.ส. อภิปรายจะส่งผลกับในพื้นที่ของเขา
มองถึงความคาดหวังของประชาชน กับการเป็นตัวแทนอย่างไร
ผมวางไว้ 3 หลัก คือ 1.งานสภาฯ คือต้องทำหน้าที่ ส.ส. เอาความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนมาปรึกษาหารือ หรือถ้ามีจังหวะโอกาสต้องอภิปรายในสภาฯสำหรับปัญหาในพื้นที่ของพวกเรา คือปัญหาของชาวบ้าน ต้องพูดแทนชาวบ้านทุกเรื่อง
2.งานพื้นที่ ในอดีตยอมรับเวลาไปหาเสียง เสียงที่สะท้อนมาจากชาวบ้าน ถ้าได้เป็น ส.ส.แล้วอย่าทิ้งชาวบ้าน มีโอกาสก็ลงไปเยี่ยมชาวบ้านตามโอกาส ตามเวลา เป็นเรื่องที่ทำไม่ยาก มีเวลาเลิกประชุมก็ลงไปเจอชาวบ้าน แค่นี้ชาวบ้านก็แฮปปี้ เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
และ3.งานงบประมาณ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส.ไม่สามารถแปรญัตติได้ แต่ ส.ส. สามารถปรึกษาหารือ เสนอความคิดเห็นผ่านการประชุม เมื่อเราเสนอไปหน่วยงานต่างๆ ก็นำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปบรรจุเป็นโครงการ กลายเป็นงบประมาณลงไปในพื้นที่ เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในการอภิปรายโดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น งานทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นการตอบโจทย์ชาวบ้าน
กระแสตอบรับของประชาชนต่อรัฐบาล ในช่วงนี้เป็นอย่างไร
กระแสการทำงานของรัฐบาล มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาล และอีกฝ่ายกลางๆ จะดีจะชั่วอย่างไรก็ชอบลุงตู่ สถานการณ์ขณะนี้มองว่า สถานการณ์โควิด การวิจารณ์ การดราม่าเรื่องวัคซีน การแก้ปัญหาเรื่องโควิด ยังอยู่ในช่วงที่มีปัญหา หลังจากนี้อยากให้ย้อนกลับไปดูว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็บอกว่า อยากเปลี่ยนรัฐบาลไหม อยากจะเปลี่ยนลุงตู่ไหม ก็ยัง เพราะถ้าคนอื่นมา ก็ยังไม่รู้จะแก้ปัญหาได้อย่างนี้หรือเปล่า ฉะนั้นภาพรวมวันนี้ การทำงานของคณะรัฐมนตรี โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมคิดว่า ชาวบ้านยังพอใจ อยู่ในขั้นผ่านเกณฑ์ ไม่ได้เสียหายมาก
แต่ถ้าคิดในอีกมุม ก่อนหน้าวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมากระแสตกลงเยอะประเด็นเรื่องโควิด วัคซีนจะมาหรือไม่มา แต่พอถึงวันที่ 7 มิ.ย. วัคซีนมาตามนัด ทุกอย่างก็โอเค ที่เหลือก็เป็นการจัดการเรื่องการแก้ปัญหา โดยเฉพาะพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท สามารถไปจิ้มโดนจุดหรือเปล่า เพราะพวกผมได้อภิปรายมองให้เห็นว่า เงินส่วนใหญ่ชาวบ้านพูดถึงเงินกู้เขาไม่โอเค แต่ได้ฟัง ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายในสภาฯ เขามองออกเลยว่า เงินก้อนนี้ จะไปทำอะไรบ้าง อย่างน้อยเขาจะคอยเป็นคนสังเกตว่า ที่จัดสรรปันส่วนเป็น 3 ก้อน เงินแก้โควิด เงินเยียวยา เงินโครงการต่างๆ จะไปถึงจริงหรือไม่ ซึ่งถือเป็นข้อดีของระบบรัฐสภา
นายกฯ ประกาศเหลือเวลาอีก 1 ปี ให้รัฐมนตรีเร่งทำงาน เป็นการส่งสัญญาณที่มีนัยยะหรือไม่
สิ่งที่นายกฯ ส่งสัญญาณ หมายถึงให้ทุกคนต้องเร่งดำเนินการในการนำนโยบาย หรือโครงการต่างๆ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีต้องไปเร่งรัดโครงการที่ผ่านงบประมาณไปแล้ว หรือโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่จะมาต่อยอดในการแก้ปัญหาหลังสถานการณ์โควิด
ถ้าดูไทม์ไลน์ของรัฐบาล มาถึงขณะนี้ 2 ปี 3 เดือน ถ้าบอก 1 ปี ของนายกฯ ก็เกือบครบวาระพอดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายกฯ บอกว่า 1 ปีให้เร่งทำงานเต็มที่ หากหลังจากนี้คณะรัฐมนตรี และรัฐบาลทำเต็มที่ ผลงานออกก็สามารถตอบโจทย์ชาวบ้านได้ว่า วาระ 4 ปี ในการเลือกตั้งของนายกฯ ที่มีสภาฯ ผลงานจะออกมามากน้อยขนาดไหน
พรรคภูมิใจไทยเป็นอีกพรรคการเมืองที่ถูกจับตา ว่าอาจมี ส.ส.เข้ามาเพิ่มในการเลือกตั้งสมัยหน้า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคขนาดกลาง เป็นพรรคที่ปฏิบัติงาน วันนี้เพื่อน ส.ส.หลายพรรคการเมืองสนใจอยากมาร่วมงานกับพรรค โดยการพูดคุย บอกกล่าว แต่ยังไม่ตัดสินใจ และบุคคลที่กำลังตัดสินใจลงทำงานทางการเมืองระดับประเทศ หรือการเมืองท้องถิ่น เขาก็เล็งมาที่ภูมิใจไทยเป็นอันดับต้นๆ ฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ภูมิใจไทยจากพรรคเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง แต่วันนี้ ถ้าพูดถึงพรรคการเมืองจะไล่ลำดับมาเลยคือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย
แสดงให้เห็นว่า การทำงานของภูมิใจไทย ตอบโจทย์ และสถานะจุดยืนของหัวหน้าพรรคชัดเจน โดยเฉพาะการยืนเป็น 1 ในคณะรัฐมนตรีของนายกฯ หัวหน้าพรรคไม่เคยเอาเรื่องของนายกฯ มาพูดให้สมาชิกฟัง และย้ำสมาชิกเสมอว่า เราต้องร่วมมือกับนายกฯ และหัวหน้าให้เกียรตินายกฯ มากๆ หัวหน้าในสถานะลูกน้อง จะเป็นลูกน้องที่ดี ในสถานะผู้นำเป็นรัฐมนตรี ก็มีลักษณะการเป็นผู้นำ
พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่กำลังจะเติบโตในอนาคต แต่การเลือกตั้งในสมัยหน้านั้น ปัจจัยอาจจะมีการเปลี่ยน โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้เราโตได้ขนาดไหน แต่ในความรู้สึกของพวกผม เราอยากเป็นพรรคขนาดกลางที่บริหารงานง่ายๆ สามารถตอบโจทย์ชาวบ้านได้
การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบมากกว่าฝ่ายค้าน ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่
มันไม่ได้เปรียบ เสียเปรียบ เพราะว่า เราจะไปใช้ปัจจัยกลไกราชการ ก็ทำไม่ได้ สมัยนี้ไม่ว่าโลกโซเชียล การตื่นตัวทางการเมืองทุกคนจะวางตัวเป็นกลาง ทั้งฝ่ายปกครอง พี่น้อง อสม. หรือองค์กรต่างๆ ที่เป็นฐานคะแนนให้กับนักการเมืองในอดีต เดี๋ยวนี้ไม่สามารถสั่งใครได้
ฉะนั้นการที่จะได้เปรียบ ผมมองว่า ไม่ได้เปรียบโดยสิ้นเชิง แต่บางครั้งอาจจะเสียเปรียบก็ได้ เกิดรัฐบาลหลังจากนี้ 1 ปี เหมือนที่นายกฯ บอกให้เร่งทำงาน แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์หรือเข้าตาพี่น้องประชาชน ก็จะเป็นอุปสรรคสำหรับพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล
ฝากถึงส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ให้ร่วมทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง
ส.ส. 500 คน ต่างเป็นส.ส.เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล จึงอยากให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อน ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็ต้องให้เกียรติส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องให้เกียรติเพื่อน ส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือทำเพื่อชาวบ้าน สิ่งไหนผิด หรือละเลยในการทำหน้าที่ต้องให้อภัยกัน อย่าไปถือทิฐิว่าเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทุกคนทำงานร่วมกันได้หมด
โดยเริ่มจากความสัมพันธ์เล็กๆ เหมือนเช่น คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า สภาฯเหมือนลิเกโรงใหญ่ ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่โรงลิเก แต่เป็นโรงละครชีวิต ในระบอบประชาธิปไตย อย่าไปตำหนิว่าใครทำดี ไม่ดี เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง