สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงปู่อ้น วัดบางจาก พระเกจิชื่อดังแห่งแม่กลอง หรือ จ.สมุทรสงคราม ที่ชีวิตฆราวาสท่านเป็นถึง “หม่อมราชวงศ์” แต่ด้วยความสมถะ รักสันโดษ เมื่ออยู่ในสมณเพศจึงไม่รับยศตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น คงเป็นพระลูกวัดอยู่กระทั่งมรณภาพ
“พระหลวงปู่อ้น” พระเครื่ององค์สำคัญของชาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม นับเป็นหนึ่งใน “พระเครื่องตระกูลพระสมเด็จ” โดยเฉพาะพระหลวงปู่อ้น พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น ที่มีเนื้อหามวลสาร พิมพ์ทรง และพุทธลักษณะโดยทั่วไป ใกล้เคียงกับ พระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มากที่สุด เหตุเพราะ หลวงปู่อ้น เป็นหนึ่งในศิษย์ใกล้ชิด ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ รูปหนึ่ง และยังเป็นที่ยอมรับกันในวงการฯ ว่า ‘พระหลวงปู่อ้น’ มีเนื้อหามวลสารเหมือน ‘พระสมเด็จ’ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มากที่สุดอีกด้วย
ตามบันทึกของ พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เลขานุการเสนาบดี กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นคว้าและเขียนบันทึกประวัติของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เกิดทันยุคของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และหนังสือจดหมายเหตุต่างๆ บางตอน ได้กล่าวถึงประวัติของ หลวงปู่อ้น ว่า … หลวงปู่อ้น มีนามเดิมว่า “ม.ร.ว.อ้น อิศรางกูร ณ อยุธยา” นิสัยของท่านรักสันโดษ เมื่ออุปสมบทที่วัดระฆังแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังฯ คอยปรนนิบัติและศึกษาวิปัสสนากรรมมัฏฐานและไสยเวทกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ...
ด้วยความที่ หลวงปู่อ้น เป็นพระที่สมถะ รักสันโดษ จึงไม่ยอมรับตำแหน่งยศศักดิ์ใดๆ คงดำรงตนเป็นพระลูกวัดจนชราภาพ จนถือเป็นศิษย์อาวุโสของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทีเดียว ท่านมักล่องเรือไปจำพรรษาที่วัดบางจาก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่งปัจจุบันคือ วัดเกษมสรณาราม อ.อัมพวา เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่เงียบสงบ จนกระทั่งออกพรรษา ท่านจึงกลับมาเยี่ยมนมัสการท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งละนานๆ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี
ต่อมา ท่านได้ไปจำพรรษาที่ วัดปรกคลองวัว หรือ วัดปรกสุธรรมาราม อ.อัมพวา ระยะหนึ่ง จากนั้นก็อยู่จำพรรษาที่ วัดบางจาก จนถึงแก่มรณภาพ
ช่วงที่ หลวงปู่อ้น จำพรรษาที่วัดบางจาก นั้น ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้ เพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่เคารพนับถือในตัวท่าน และส่วนหนึ่งได้นำบรรจุกรุไว้ถึง 2 แห่งด้วยกัน คือ ที่วัดเกาะลอย อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี และ ที่วัดปรกคลองวัว อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยจากเนื้อหามวลสารแล้ว เชื่อว่าท่านใช้สูตร ‘การลบผงพุทธคุณ’ เช่นเดียวกับที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์
มูลเหตุการณ์สร้างพระของ หลวงปู่อ้น เนื่องจากท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างสูง จึงคิดสร้างพระพิมพ์ขึ้นจำนวน 84,000 องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคตินิยมแต่โบราณกาล โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์ อีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธาเลื่อมใสตามสมควร “พระหลวงปู่อ้น” จึงมีทั้ง พระที่บรรจุในกรุซึ่งจะมีคราบนวลและขี้กรุตามลักษณะของพระกรุโดยทั่วไป และ พระที่ไม่ได้บรรจุกรุ
หลวงปู่อ้น สร้าง ‘พระสมเด็จ’ หลายพิมพ์ทรงด้วยกัน มีอาทิ พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น, พิมพ์เล็บมือ, พิมพ์ประคำรอบ ฯลฯ แต่ “พระหลวงปู่อ้น พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น” นับเป็น “พิมพ์นิยม” ซึ่งทั้งเนื้อมวลสารและพุทธลักษณะใกล้เคียงกับ พระสมเด็จ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาก คือ พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานหมอน 3 ชั้น ฐานชั้นล่างสุดตรงกลางเป็นร่องลึกซึ่งคล้าย พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ แต่หลวงปู่อ้นได้สร้างพิมพ์ด้านหลังให้เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป โดยทำพื้นด้านหลังโค้งและนูนเป็นพิเศษ บางครั้งจึงนิยมเรียกว่า “สมเด็จหลังประทุน” เพราะมีลักษณะเหมือน ‘ประทุนเรือ’ แต่ด้วยเหตุที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้ผู้ฉวยโอกาสทั้งหลาย ได้โอกาสที่จะนำพระของท่านมาแกะและเปลี่ยนแปลง เพื่ออุปโลกน์เป็น ‘พระสมเด็จ’ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้อย่างง่ายดาย
พระหลวงปู่อ้น มีพุทธคุณโดดเด่นทางด้านเมตตามหานิยมเป็นเลิศ เนื้อขององค์พระเมื่อถูกสัมผัสก็จะหนึกนุ่ม แบบที่เรียกว่า ‘เนื้อจัด’ อาจเป็นด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้น กอปรกับความเป็นพระเครื่ององค์สำคัญของอำเภออัมพวา จึงเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาของพุทธศาสนิกชนและนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ และเป็นที่หวงแหนยิ่ง ปัจจุบันเป็นพระที่หาดูหาเช่ายากยิ่งครับผม