ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล คอมมิวนิสต์เฟื่องฟูเพราะขายฝันที่ถูกใจผู้คนที่ขมขื่น กุศลเป็นลูกจีน พ่อแม่เป็นคนจีนทั้งคู่ เพียงแต่ว่าเป็นลูกจีนที่เกิดในประเทศไทย โดยที่ปู่ย่าตายายซึ่งมีความใกล้ชิดกันมาก่อน อพยพมาด้วยกันจากเมืองจีนในช่วงที่จีนกำลังถูกต่างชาติรุกราน ก่อนที่จะเข้ายึดประเทศจีนในยุคพระนางซูสีไทเฮา ครอบครัวคนจีนจำนวนมากลงเรือด้วยความตื่นตระหนก รอนแรมมาขึ้นเรือตามชายทะเลต่าง ๆ ของประเทศไทย ปู่และย่ากับตาและยายของกุศลมาขึ้นที่ท่าฉลอม แต่ไม่ได้อยู่ที่ท่าเรือริมทะเล โดยหลบมารับจ้างทำสวนอยู่แถวบ้านแพ้ว จนกระทั่งสามารถเช่าที่ดินจำนวนหนึ่งปลูกพืชผักและผลไม้ต่าง ๆ แล้วคลอดพ่อกับแม่ของกุศลที่นั่น จึงทำสัญญาเป็นดองกันเพื่อให้ลูกหลานได้แต่งงานกัน เมื่อพ่อกับแม่แต่งงานกันแล้ว ก็แยกครอบครัวมาเปิดร้านค้าขายอยู่แถวตลิ่งชัน ซึ่งกุศลได้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ ในสมัยก่อนนั้น คนจีนที่อพยพหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยถือว่าเป็น “พลเมืองชั้น 2” เรียกว่าเป็นคนต่างด้าวที่มีฐานะด้อยกว่าพลเมืองคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีนโยบายต่อต้านคนต่างด้าว ครั้นพอประเทศจีนถูกคอมมิวนิสต์ยึดครองใน พ.ศ. 2492 รัฐบาลทหารของไทยในยุคนั้นก็ได้ใช้นโยบายในการบีบบังคับคนจีนมากขึ้น โดยทำทีว่าจะให้ฐานะพลเมืองอย่างสมบูรณ์แก่คนจีน แต่ก็ต้องแลกด้วยการจ่ายใต้โต๊ะให้กับข้าราชการของไทยจำนวนมาก ซึ่งคนจีนที่พอจะมีฐานะก็ไม่ลำบากนัก แต่คนจีนจน ๆ เช่นครอบครัวของปู่และย่ากับตาและยายของกุศลไม่มีความสามารถจะจ่ายได้ จนกระทั่งได้มีสมาคมคนจีนเข้ามาช่วยเหลือ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นคนไทย แต่ก็ยังไม่มีสิทธิเต็มที่เท่าคนไทย เช่น เลือกตั้งไม่ได้ และเป็นทหารไม่ได้ เป็นต้น พ่อกับแม่มักจะเล่าถึงความลำบากของปู่กับย่าและตากับยาย (คนจีนเรียกว่าอาก๋งกับอาม่า แต่กุศลเรียกว่าปู่ย่าตายายแบบคนไทย) ตั้งแต่ในครั้งที่เป็นคนงานทำสวนอยู่ที่บ้านแพ้ว ต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ขนขี้หมูไปรดผัก ถางหญ้า แบกเข่งผักลงเรือ กินข้าวต้มกับไข่เค็มและปลาเค็มทุกมื้อ คนงานเป็นสิบ ๆ คน มีปลาตัวเดียวหรือไข่ 2-3 ฟอง ทั้งยังต้องแบ่งมากินในครอบครัวถ้าที่บ้านมีลูก จึงไม่พ้นที่จะต้องเติมเกลือหรือน้ำปลาให้มากหน่อย จึงจะพอได้รสชาติของกับข้าวเหล่านั้นบ้าง พอถึงตรุษจีนหรือวันสารทต่าง ๆ จึงจะได้กินของกินดี ๆ แต่ก็ต้องกระเหม็ดกระแหม่มารวมเงินกันซื้อของไหว้เหล่านั้น พอถึงวันเช็งเม้งก็ต้องหาไม้มาเขียนป้ายวางไว้ที่หัวนอนได้กราบพอเป็นธรรมเนียม ทั้งยังถูกบังคับให้เรียนภาษาไทย รวมทั้งที่มีเจ้าหน้าที่มารีดไถเรียกค่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่จับกุมคนจีนอพยพทั้งหลาย ดังนั้นคนจีนในยุคนั้นจึงไม่ได้ไปไหนมาไหน ต้องซุกหัวเก็บตัวอยู่แต่ในไร่ในสวน เหมือนกับสำนวนที่ว่า “ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน” นั่นเลยทีเดียว กุศลเกิดมาตอนที่พ่อแม่พอลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว พอกุศลเข้าเรียนชั้นประถม พ่อก็ไปขอเปลี่ยนนามสกุลที่ค่อนข้างยาวกว่านามสกุลทั่ว ๆ ไปของคนไทย นัยว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว แต่โรงเรียนที่กุศลไปเรียนนั้นก็ยังมีการ “เหยียดชาติ” คือแสดงความเกลียดชังพวกคนจีนอยู่พอสมควร กุศลทนเรียนจนจบ พอขึ้นชั้นมัธยมก็ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาล สภาพการณ์ที่ถูกดูถูกเหยียดหยามนั้นก็ไม่ได้หมดไป เพียงแต่กุศลตัวค่อนข้างใหญ่ พอมีใครพูดไม่ดีเข้ามา เพียงแค่กุศลถลึงตาใส่ก็พากันหนีห่างออกไป หรือบางทีก็ถึงขั้นที่ชกต่อยกัน แต่กุศลก็เอาชนะได้ทุกครั้ง แม้บางทีจะถูกรุมเข้ามาหลาย ๆ คนก็ตาม ชีวิตลูกจีนแบบกุศลจึงค่อนข้างจะอยู่ยาก ซึ่งก็คงจะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับกุศลมาโดยตลอด กลายเป็นความเก็บกดที่มาระบายออกในทางสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะที่มาแสดงออกในโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นยุคแห่งเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ และ “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในปี 2516 ผมเรียนอยู่ในชั้น ม.ศ. 3 และเป็นรองประธานชุมนุมสังคมศึกษาของโรงเรียน พอเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคมจบลงก็เปิดเทอมพอดี พวกเรารู้สึกคึกคักกันมาก เพราะมีรุ่นพี่ชั้น ม.ศ. ๔ คนหนึ่งได้กลายเป็นวีรบุรุษในเหตุการณ์วันมหาวิปโยคนั้นด้วย จึงได้จัดกงานเพื่อระรึกถึงรุ่นพี่คนนั้น พร้อมกับมีการเรียกร้องไปยังผู้อำนวยการโรงเรียน ให้พวกเราได้ไว้ผมยาว (โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ในตอนนั้นยังเป็นโรงเรียนชายล้วน) ซึ่งโรงเรียนก็เหมือนจะอนุโลมให้ เมื่อไว้ผมยาวได้แล้วก็มีนักเรียนหลายคนทำเลยเถิด เช่น ใส่เสื้อไม่ปักชื่อโรงเรียน ใส่รองเท้าแตะ และสะพายย่ามมาโรงเรียน ตลอดจนไม่ยอมให้อาจารย์เช็คชื่อ และไม่ร่วมกิจกรรมที่ทางโรงเรียนขอความร่วมมือมาหลายอย่าง ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นเรียกว่าเป็น “วัฒนธรรมเผด็จการ” ล้าหลัง และกดขี่สิทธิมนุษยชน ผมเองก็ร่วมอยู่ใน “เสรีภาพบ้า ๆ บอ ๆ” ในช่วงนั้นด้วย โดยจะโทษว่าทำตามเพื่อนก็คงไม่ถูกทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นความบ้าส่วนตัวของคนในวัยรุ่นนี้ ที่ความอยากมีตัวตนมันพลุ่งพล่าน พอยิ่งมีคนจำนวนมากคือเพื่อน ๆ ก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าให้ความบ้านั้นโหมกระพือมากขึ้น ผมจำได้ว่าตอนนั้นมีการเลือกตั้งประธานนักเรียน ผมได้ร่วมลงสมัครในทีมในตำแหน่งรองประธานนักเรียนของทีมนั้นด้วย โดยทีมของเราได้หาเสียงว่าเราจะเขียน “ธรรมนูญนักเรียน” ขึ้นมาดูแลพวกเรานักเรียนด้วยกันเอง โดยจะโละทิ้งกฎระเบียบที่ล้าหลังต่าง ๆ ของโรงเรียน และสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทันสมัย และเหมาะสมกับชีวิตของ “เสรีชน” ในยุคประชาธิปไตยนั้นด้วย ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในคณะของผู้ร่างธรรมนูญฉบับนั้น ซึ่งที่จริงก็มีทำอยู่แค่ 2 คน คือประธานนักเรียนที่เป็นรุ่นพี่ชั้น ม.ศ. 5 กับผมที่มีเลือดบ้าและเสนอตัวเข้าช่วยทำ ผมจำได้ว่าผมไปเปิดดูตำรารัฐธรรมนูญในห้องสมุด รวมถึงเขียนจดหมายไปถึงคณะกรรมการนักเรียนของโรงเรียนอีก 2-3 แห่งที่เขาเขียนธรรมนูญนักเรียนนั้นเสร็จแล้ว จากนั้นผมก็เอามาคัด มาร่าง และเรียบเรียงด้วยลายมือ ก่อนที่จะให้ประธานนักเรียนได้ตรวจทาน จากนั้นก็เอาไปพิมพ์และประกาศใช้ ซึ่งก็ปิดเทอมพอดี พอเปิดเรียนในปีต่อมา พวกเราหลายคนยังเรียนต่อมัธยมปลายที่นี่ และในปีต่อมาก็มีการเลือกตั้งตามธรรมนูญนักเรียนฉบับใหม่ พร้อมกับการเข้ามาของนักเรียนกลุ่มใหม่ ที่มีกุศลรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย กุศลได้ใช้ธรรมนูญฉบับนี้แหละเอาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานนักเรียนในปีต่อมานั้น