ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “เราต่างหาใฝ่หาความสมบูรณ์แบบในชีวิตอย่างล้นทะลัก ทั้งๆที่เราไม่ได้ดูแลชีวิตอย่างทะนุถนอมและจริงจังสักเท่าไหร่เลย...นั่นคือความจริงแห่งจิตปรารถนาที่ดูไม่สมดุลและลงตัวนัก..มันคือด้านหยาบของชีวิตที่ติดตรึงความเป็นตัวตนอย่างไม่รู้ตัว...แท้จริงแล้ว การเรียนรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบคือปฏิกิริยาอันชัดแจ้งต่อการตรวจสอบความหมายของชีวิต...ให้เจิดกระจ่างต่อการรับรู้ในรู้สึกที่มีคุณค่ายิ่งในผัสสะที่ลึกซึ้งถึงความมีความเป็นอันแยบยล และสั่นสะท้านผ่านมโนสำนึกของทุกๆ...” นี่คือหมายเหตุแห่งความหมายอันสมบูรณ์ ที่ได้รับจากหนังสืออันถือเป็นแบบเรียนแห่งชีวิตที่น่าจดจำเล่มหนึ่ง... “วะบิ ซะบิ” (WABI SABI)...หนังสือที่สื่อแสดงถึงภูมิปัญญาและมุมมองของคนญี่ปุ่น เพื่อมองเห็นถึงปัญญาญาณจากธรรมชาติอันแท้จริง และให้ผู้คนที่มีชีวิตทั้งหลายได้มีความสุขกับภาวะที่ไม่มีชีวิตอันหมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบอันถาวร...งานเขียนที่น่ายกย่องของ”เบท เคมป์ตัน”(Bet Kempton) นักเขียนหญิงผู้ได้รับการยกย่องและยอมรับว่า...เป็นผู้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งและหาคนเทียบได้ยาก...เธอวิริยะในการสืบค้นว่า “วะบิ ซะบิ” คือสิ่งใดและหมายถึงสิ่งใดกันแน่ ที่สำคัญ..มันได้ก่อประโยชน์อะไรต่อการที่เราจะหยิบฉวยมันมาใช้กับความเป็นชีวิต เธอออกตามหาความหมายของคำๆนี้ นับแต่บ่อน้ำในวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนานซามูไร ในชาเขียวรสขมในถ้วยชาที่ระอุไอ กระทั่งล่วงไปถึงการออกแบบอันวิจิตรตระการของดีไซเนอร์ชื่อดัง ทั้งนี้เพื่อกลั่นวิถีของแนวทางแห่งปรัชญาอันเก่าแก่นี้ออกมาอย่างเป็นรูปรอยทั้งด้านสำนึกแห่งการคิดและการปฏิบัติในชีวิต ทั้งนี้เพื่อหวังจะนำมาใช้ในโลกที่สมบูรณ์แบบอย่างรู้เท่าทันว่า “ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงสมควรที่จะปฏิบัติตัวเช่นไร..เพื่อให้ความไม่สมบูรณ์แบบของเราได้งอกงามและมีชีวิตธำรงอยู่บนโลกนี้ได้..อย่างที่สมควรจะเป็น” “วะบิ ซะบิ” คือปรัชญาดั้งเดิมอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นเหมือนดั่งเช่นปรัชญา “อิคิไก” และ “คินสึงิ” ที่ฝังรากลึกอยู่กับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมายาวนาน...แต่ทว่าในภาวะที่เป็นอยู่.ก็แทบจะไม่มีคนญี่ปุ่นคนใดที่ประจักษ์ในความหมายที่ชัดแจ้งของมันได้อย่าถ่องแท้.. ทุกคนมักจะบอกและพูดออกมาในเชิงเปรียบเปรยว่า มันเร่าร้อนในแสงแดด และ เยียบเย็นและล่องลอยอยู่ในสายลม หอมหวนสดชื่นอยู่ในวิถีของซากุระบาน และติดตรึงใจอยู่ในห้วงภวังค์ของใบซากุระอันเหี่ยวเฉา...ทั้งหมดทั้งสิ้นเหมือนเป็นไปดั่งทั้งความสุข และความทุกข์...ทั้งในรูปและนาม...เปรียบเสมือนทุกสรรพสิ่งที่ตกอยู่กับภาวะที่ล้วน...ไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และ..ไม่เสร็จสิ้น... “เพราะไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงเป็นมนุษย์” ประเด็นสำคัญนี้...คือรากฐานแห่งการเรียนรู้ในความเป็น “วะบิ ซะบิ” ที่ดิ่งลึกต่อการสืบค้นทั้งภายนอก และ ภายในจิตใจ.. “เบท” ได้ลงทุนชีวิตในการสืบค้นถึงนัยความหมายอันสำคัญนี้ผ่านพื้นที่ชีวิตแห่งการดำรงอยู่และใช้ชีวิตมากมายนับแต่..โรงน้ำชา บาร์แจ๊ซ พิพิธภัณฑ์ น้ำพุร้อน วัด รวมทั้งจากหนังสือเก่าแก่ในห้องสมุด หรือพจนานุกรมที่ผ่านการแปลความหมายในหลายรูปลักษณ์...กระทั่งสภาวะต่างๆที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งสถานะเกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต บางขณะมันคือความล่มสลายทางจิตวิญญาณที่ยากจะสมานและเยียวยา หลายๆขณะมันคือความล้มเหลวต่อการเผชิญหน้าของชีวิตกับอุปสรรคหลายสิ่งหลายอย่าง..ความพร่ามัวต่อการเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่างๆ ล้วนหลอมรวมเป็นปัจจัยของชีวิตที่ยุ่งยากอันจำเป็นต่อการข้ามผ่านไปให้พ้น..ด้วยการเชื่อมั่นว่าอุปสรรคและความล้มเหลวทั้งหลายคือแก่นแกนของการต้องเอาชนะ...เราจำเป็นต้องเรียนรู้และรับรู้จากมันอย่างพินิจพิเคราะห์..ซึ่งมันจะส่งผลให้คนเราอดทนขึ้น และเติบโตก้าวไกลไปในทิศทางแห่งทางเลือกอี่น...นั่นคือนิยามความหมายที่จะเตือนสติว่า...เมื่อเราเลิกยึดถือความสมบูรณ์แบบ ชีวิตของเราก็จะไม่ติดยึดอยู่กับเงื่อนไขที่เชื่อว่า “ความล้มเหลว” คือ “ความล้มเหลว” อีกต่อไป นั่นจะส่งผลถึงคำอธิบายต่อความหมายของ “วะบิ ซะบิ” ในมิติอันชวนใคร่ครวญที่ว่า.. “วะบิ ซะบิ” คือการยอมรับและชื่นชมต่อธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ล้วนไม่เที่ยง ไม่เสร็จสิ้น ไม่สมบูรณ์/..คือการเรียนรู้และการรับรู้ ถึงความเนิบช้า เรียบง่าย และ การดำเนินชีวิตไปตามครรลองของธรรมชาติ/..ที่สุดมันคือ..การตอบสนองของปัญญาญาณต่อภาวะแห่งความงาม ที่สื่อสะท้อนถึงความเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของชีวิต “เบท” ใช้เวลาร่วมยี่สิบปี..แบ่งปันและรับรู้ในวิถีแห่ง “วะบิ ซะบิ” ในชีวิตของเธอผ่าน ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างเธอกับสามี ลูกๆ เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนผู้คนต่างๆที่ได้สัมผัสพบเจอ..มันคือนัยสะท้อนในหลากมิติที่เร้นซ่อนอยู่ในตัวตนของคนทุกคนอันต่างสถานะระหว่างกัน... สาระมุมมองของ “วะบิ ซะบิ” เป็นสิ่งที่เน้นย้ำและขยายความอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้หัวใจเปิดกว้างขึ้น เมื่อชีวิตต้องประสบกับอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ได้ดังใจ /อย่างไรก็ดีความล้มเหลวนั้นจะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป...ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ในแต่ละวัน...แท้จริงเราต่างมีโอกาสที่จะเริ่มต้นในชีวิตใหม่ได้เสมอ/...และด้วยวิถีแห่งสัจจะที่ตอกย้ำอยู่เสมอว่า..ทุกสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ก็ได้กลายเป็นจังหวะที่ทำให้เราได้หยุดนิ่ง พลิกมุมมอง หรือกระทั่งแสวงหาหนทางอื่นมาทดแทน.. “ระหว่างห้วงยามของการค้นหา..นอกจากสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ข้ามไปมองยังอีกฝั่งของชีวิต...เราก็ยังมีวิธีการตลอดจนแนวทางแห่งกระบวนวิธีตั้งคำถามต่างๆ ทั้งในเรื่องครอบครัว การงาน อาชีพ เงินทอง การฝึกฝนความพากเพียร รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ...ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ทบทวนถึงสิ่งเล็กๆน้อยๆ...ที่เราทุกคนอาจมองข้ามไปในการใช้ชีวิต กระทั่งส่งผลชวนให้เรากลับมาอยู่กับโครงสร้างแห่งปัจจุบันขณะ ได้อย่างสอดคล้องและสมดุลยิ่งขึ้น...จนสามารถส่งพลังให้เราสามารถกล่าวขอบคุณ”ตัวตน”ของตัวเองดั่งที่เป็นอยู่...และยังส่งค่าความหมายถึงภาวะแห่งการเฉลิมฉลองให้กับ” ความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิต”ได้ในที่สุด.. “เบท เคมป์ตัน”...แม่บ้านลูกสองผู้มีอาชีพล่าม และเป็นนักข่าวและที่ปรึกษาบริษัทที่สนับสนุนให้คนได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบชอบและปรารถนาที่จะทำ เธอมีความตั้งใจว่าจะชวนให้คนได้ค้นหาสิ่งที่ยังให้ความจำกัดความอย่างถ่องแท้มิได้นี้ผ่านการอธิบายอย่างเรียบง่ายและน่าสนใจ...ในห้วงเกษียณก่อนเวลาของเธอ “ระหว่างการก้าวเดินตามรายทางชีวิต ในสังคมที่ฉายเพียงภาพความเป็นมนุษย์ที่ถูกจัดแต่งจนเป็นระเบียบเรียบร้อย เข้ารูปเข้ารอยตามระบบ แต่ในความเป็นจริง เราต่างมีการดำเนินชีวิต มีประสบการณ์อันหลากหลายกับโลกใบนี้โดยเฉพาะตัว..แต่จากตามธรรมชาติอันแท้จริงแล้ว ทุกคนย่อมสามารถผิดพลาดได้ หวั่นไหวได้ และ ล้มเหลวได้ สั่นสะเทือนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ตามภาวะที่รู้สึกได้ว่ามันสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ตาม.../เหตุนี้มันจึงไม่ง่ายเลยสำหรับการยอมรับและต้องเปิดเผยเรื่องราวอันไม่พึงปรารถนาของชีวิต เหตุนี้บางคนจึงเก็บซ่อนไว้ในส่วนลึกของหัวใจ ปกปิดอย่างมิดชิดคล้ายบาดแผลอันน่าขยะแขยงชวนรังเกียจ และบางครั้งก็รู้สึกผิดกับเรื่องราวที่ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง จึงได้แต่กล่าวโทษคนอื่นและตนเองซ้ำไปซ้ำมาเท่านั้น....” บทแรก..ของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงที่มาของ “วะบิ ซะบิ” ซึ่งแม้แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหญ่เองก็ยังหาความชัดเจนใดๆมาอธิบาย ความหมายอันรวบรัดตายตัวแห่งปรัชญาเก่าแก่นี้ไม่ได้...เหตุนี้ “เบท” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงเลือกใช้ที่มาของพิธีชงชามาช่วยในการเล่าเรื่องให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น...ซึ่งในพิธีชงชานั้นมีส่วนของคำว่า “วะบิ” ผสมอยู่ด้วย...โดยในภาษาญี่ปุ่นนั้นสามารถเขียนได้สองแบบ แบบแรกมีความหมายว่า “รสชาติอ่อนๆ”...ส่วนในอีกความหมายหนึ่งคือความหมายที่ว่า “กลุ้มใจหรือเศร้าใจ”โดยต่อมาคำว่า “วะบิ” ถูกนำมาใช้ในพิธีชงชาแบบ “ริกิว” มันจึงแทนความหมายถึงคุณค่าความงามของความเรียบง่าย...อันผสมผสานกับคำว่า ไซะบิ” กระทั่งกลายเป็นส่วนผสมระหว่างกันและกัน...ในนาม “วะบิ ซะบิ”.../ ในบทที่ 2... “เบท”ได้นำเสนอนัยของการแต่งบ้าน โดยใช้คำว่า “เรียบง่ายด้วยใจ” มาเรียกการตกแต่งบ้านด้วยความรัก...ความเรียบง่ายด้วยใจนี้จะทำให้เราทำที่อยู่แบบไหนก็ตาม...ให้กลับกลายเป็นพื้นที่น่าอยู่มากขึ้น โดยไม่ขึ้นกับขนาดของพื้นที่และงบประมาณในการตกแต่ง...โดยไม่รู้สึกอิจฉาบ้านของผู้อื่นที่ดูมีค่าและงดงามกว่า ในบทที่ 3..เป็นการอธิบายถึงสัจธรรมของชีวิตในการอยู่กับธรรมชาติ/ด้วยภาวะของการมองเห็นความไม่จีรังยั่งยืนตามหลักของศาสนาพุทธ...ซึ่งสำหรับ “วะบิ ซะบิ” แล้วมันหมายถึง การนำพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ...สามารถมองหาความงดงามในความเปลี่ยนแปลง นำพาตัวเองจากเหล่ากองงานที่หนักอึ้ง แล้วปล่อยให้ธรรมชาติเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวตนอีกแบบหนึ่งของเรา โดยไม่แคร์สายตาใครในสังคม...นั่นหมายถึงว่า..แม้เราจะกระทำผิดต่อสิ่งใดเพียงไหน ธรรมชาติก็เปิดรับทุกสิ่งที่เราเป็นเสมอ.. ในบทที่ 4.. บทนี้จะชวนให้ทุกคนมายอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ว่ามันเกี่ยวโยงกันมา ตั้งแต่ อดีต ปัจจุบันจนถึงอนาคต เมื่อเราสัมผัสและรู้สึกถึงกลไกนี้ เราก็จะปล่อยวางความเครียดที่มีอยู่ ถอดวางความสมบูรณ์แบบที่ใจคาดหวังไว้ แล้วก้าวออกไปจากเซฟโซนที่เคยอยู่... เมื่อสรรพสิ่งเปลี่ยนผัน นั่นแหละคือชีวิต ..นั่นแหละคือ “การยอมรับ และปล่อยวาง” ในบทที่ 5...เป็นการเล่าขานถึงคนญี่ปุ่นที่มองความผิดพลาดในนัยที่ว่า..การทบทวนความล้มเหลวนั้นไม่ได้หมายถึง การเรียนรู้ การยอมรับ การปล่อยวาง หรือจะรักในความล้มเหลวนั้น แต่เป็นการบอกกับตัวเองว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความล้มเหลวอีกครั้ง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็คือ..บทเรียนในการรับมือและพยุงตัวเองให้เดินหน้าได้ต่อไป...ดั่งภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า “ล้มลงเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นเจ็ดครั้ง” ในบทที่ 6...กล่าวถึงการทะนุถนอมความสัมพันธ์ โดยมีหลัก 4 ประการคือ “วะ” หมายถึงความสอดคล้อง/ “เคอิ” หมายถึงความเคารพ/ “เซอิ” หมายถึงความบริสุทธิ์/ “จากุ” หมายถึง ความงาม.../หลักการโบราณทั้งสี่นี้ได้สอดผสานกับวิถีคิดของชาวญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน...โดยทั้งหมดจะคลี่คลายและเกิดเป็นความกลมเกลียวต่อกัน...เมื่อต่างคนต่างให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน มีความเคารพต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ...ด้วยการใช้ความสงบควบคุมอารมณ์อันร้อนระอุของตัวเองได้.. ในบทที่ 7..ภาวะรื่นรมย์บนเส้นทางแห่งการงาน...มีคำพูดของคนที่ประสบความสำเร็จในการงานที่ได้กล่าวไว้ที่ว่า.. “ถ้าเราได้ทำงานที่ตัวเองรัก เราก็เหมือนไม่ได้ทำงานเลย”...ซึ่งส่งผลถึงการมองข้อดีในสิ่งที่ตนทำอยู่ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอาชีพที่เราหวังไว้แต่แรก แต่ในเส้นทางที่เราได้ตั้งเป้าหมายไว้นั้น เราจะสามารถพบเจอสิ่งล้ำค่าบางอย่างในระหว่างทางได้ และจากนั้นเมื่อเข้าใจถึงความเป็นไปรวมทั้งความเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..เราก็จะสามารถกำหนดทางเดินแห่งชีวิตของตนเองขึ้นมาตามได้...และหลังจากนั้นเราก็อาจจะค้นพบงานหรืออาชีพใหม่ของตนเองได้ในที่สุด ในบทที่ 8..อันเป็นสุดท้ายมีข้อสรุปว่า..เราจักต้องเก็บรักษาวันเวลาที่ดี เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ บางทีช้า บางทีเร็วจนเราหลงลืมอดีต และไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ณ ปัจจุบัน จนทำให้เรามองไม่เห็นอนาคต...เหตุนี้เราจะสามารถเบิกบานยินดีกับชีวิตได้อย่างไร...ตราบใดที่เรายังใช้เวลาไปกับความเร่งรีบ เก็บกด และตึงเครียด บนเส้นทางเดินแห่งชีวิตของตนเองที่ไม่ถูกที่ถูกทาง...ดั่งนี้การหยุดคิดและการรู้จักชะลอความเร็วของชีวิตสักนิดจึงคือ..การที่จะสามารถมองเห็นความจริงบางอย่าง...อันถือเป็นคำตอบที่เราสงสัยมานานแล้ว...นั่นคือการค้นพบภาวะที่สมบูรณ์แบบของชีวิต.. “วะบิ ซะบิ” (WABI SABI) ถูกถ่ายทอดและร้อยเรียงเป็นภาษาไทยอย่างลุ่มลึกและเป็นที่เข้าใจโดย “วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” นักแปลผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ในท่วงทำนองนี้ของญี่ปุ่นอย่างแตกฉาน...ศาสตร์ที่ทำให้คนเราได้ค้นพบตัวตนอันสมบูรณ์ของตน...ในทุกๆมิติ โดยสื่อข้ามผ่านตัวตนของความไม่รู้ไปสู่ภาวะของความใคร่ครวญในข้อตระหนักต่างๆที่เร้นซ่อนของชีวิต..ใจที่เบิกบานยินดี และบริสุทธิ์ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงอันประจักษ์แจ้ง ในทุกห้วงวันเวลา..คือกุญแจสำคัญต่อการสร้างความหมายใหม่ ให้แก่ชีวิตที่จะไม่สูญหาย และต้องคลายจางไปจากกัน...ยิ่งพบเจอความไม่สมบูรณ์ได้มากเท่าไหร่...ความล้นเหลือแห่งอรรถปัญญาของประโยชน์สุขในชีวิตก็จะเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น...และนี่คือ...หนังสือที่สามารถยกระดับจิตวิญญาณแห่งความเป็นตัวตนให้เติบโตขึ้น...สู่โลกที่ไขว่คว้าหาคำตอบแห่งชีวิตอันไม่รู้จบรู้สิ้น..ของวันนี้...ที่น่ายกย่องยิ่ง........ “คนเรามักจะเอาแต่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ...แต่น้อยคนนักที่ชีวิตแห่งชีวิตจะมีโอกาสได้พบมันอย่างจริงแท้”