โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน กระทบถึงปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งปัญหาโรคภัยและปัญหาปากท้องล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนทุกครอบครัว ... การตรวจสอบเชิงรุกเข้าไปยังตลาด โรงงาน หรือ แคมป์คนงานต่างๆ เพื่อหาผู้ติดเชื้อ เป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่จำเป็นต้องทำ แต่การหาหนทางให้แต่ละตลาด แต่ละโรงงานกลับมาดำเนินการได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ ก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพราะมันหมายถึงมาตรการด้านปากท้องที่ลดความเสี่ยงเชิงเศรษฐกิจของชุมชน ของจังหวัด รวมถึงของประเทศด้วย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เคยอธิบายประเด็นการสั่งปิดโรงงานต่างๆว่าไม่ใช่คำตอบของการควบคุมโรค และยังอาจส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายโรคไปตามภูมิลำเนาต่างๆ จากการที่แรงงานไม่มีงานทำเพราะโรงงานปิด จึงจะพากันกลับบ้าน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการระบาดคือควบคุมให้แรงงานอยู่ในขอบเขตเฉพาะ โดยหาแนวทางให้โรงงานเปิดดำเนินการต่อได้ เพื่อให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ และส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ เพราะประเทศยังต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงานและโรงงานอุตสาหกรรม
การผนึกกำลังระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข จึงเกิดขึ้น เมื่อ ศบค. มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน (Good Factory Practice : GFP) ซึ่งก็ได้เดินหน้าขอความร่วมมือโรงงานกว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ ให้ทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus ทุก 2 สัปดาห์ และ ให้พนักงานประเมินตนเองด้วย Thai Save Thai ก่อนเข้าปฏิบัติงาน โรงงานที่มีคะแนนประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รัฐก็จะมีทีมงานเข้าไปช่วยเหลือแนะนำเพื่อสนับสนุนโรงงานให้ผ่านเกณฑ์ฯ และเปิดดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
“สองสะอาด” ... ปัจจัยป้องโควิดในโรงงานการประเมินโรงงานด้วย Thai Stop Covid Plus ก็ส่วนหนึ่ง การจัดการคนหมู่มากในโรงงานใหญ่ๆ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกับโรคระบาดที่จำเป็นต้องอาศัยการเว้นระยะห่างและความมีวินัยส่วนบุคคลค่อนข้างสูง ยิ่งยากทวีคูณ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในมาตรการที่ ศบค. หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงหลายครั้งก็คือ มาตรการ Bubble and Seal ซึ่งดูจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับหลายๆโรงงาน
โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.สระบุรี ได้นำมาตรการ Bubble and Seal ของรัฐมาต่อยอด และลงรายละเอียดแนวทางปฏิบัติ “โรงงานสะอาด-คนสะอาด” กลายเป็นตัวอย่างโมเดลการจัดการโรงงานที่น่าสนใจ โดยแยกกระบวนการบริหารจัดการออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
โรงงานสะอาด : ดำเนินการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข และควบคุมการดำเนินงานโดยกรมอนามัยในพื้นที่จังหวัด รวมถึง Swab พื้นผิวสัมผัสที่เป็นจุดสัมผัสร่วมทุกจุดในโรงงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินการคงค้างของเชื้อโควิด 19 ซึ่งต้องมีผลการตรวจ Swab พื้นผิวสัมผัสที่เป็นจุดสัมผัสร่วมทุกจุดในโรงงานและสิ่งแวดล้อมว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ในทุกจุดเสี่ยง
คนงานสะอาด : เตรียมพนักงานและคนงานใหม่ทดแทนพนักงานและคนงานเดิมที่ถูกกักตัว โดยกำหนดจำนวนตามความจำเป็นของงานที่เป็น Core Process และพนักงานและคนงานทุกคนต้องปลอดการติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นย้ายพนักงานและคนงานทั้งหมดเข้าหอพักที่บริษัทจัดให้ และห้ามออกไปภายนอกโดยเด็ดขาด เสมือนเป็นการบับเบิ้ลแอนด์ซีล แบบปลอดเชื้อ (Aseptic Bubble and seal) ซึ่งจะต่างจากเดิมที่เน้น การบับเบิ้ลแอนด์ซีลโดยจำกัดบริเวณผู้ติดเชื้อ
ความเข้มข้นของการปฏิบัติต้วของพนักงานยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยระหว่างเข้ามาปฏิบัติงานในโรงงานให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T ซึ่งต้องมีทีมตรวจสอบการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พนักงานทุกคนต้องตรวจวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอททุกวันก่อนเข้าปฏิบัติงาน หากมีอุณหภูมิเกิน 37.30 C หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งให้เข้าสู่ระบบการกักตัวทันที แนวปฏิบัติดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึง การรับพนักงานชุดเดิมเข้าปฏิบัติงาน หลังพ้นระยะเวลากักตัว 14 วันด้วย
นี่เป็นเพียงการอธิบายพอสังเขป โมเดลนี้ยังมีรายละเอียดในแนวทางปฏิบัติอีกมาก แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารมาตรการป้องโควิดในโรงงานให้พนักงานทั้งโรงงานรับทราบอย่างต่อเนื่องและทวนสอบความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงแม้จะมีการรับวัคซีนแล้ว พนักงานยังคงค้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
“โรงงานสะอาด คนสะอาด” จึงเป็นต้นแบบการบริหารจัดการป้องกันโควิดภายในโรงงานทั้งก่อนและหลังการพบผู้ติดเชื้อได้อย่างเข้มข้น ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการบริหารจัดการแรงงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกวัน ส่งผลให้ไม่สูญเสียรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานรายวัน ช่วยลดปัญหาแรงงานและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อมๆกับความปลอดภัยของแรงงานและชุมชน
การได้เห็นการผนึกกำลัง 3 กระทรวงและได้เห็นความพยายามของภาคเอกชน ซึ่งลงรายละเอียดแนวทางปฏิบัติ เป็นโมเดลที่แบ่งปันให้แก่โรงงานอื่นๆด้วยเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นเป้าหมายเดียวกันของทุกฝ่าย ที่ต้องการร่วมกันเดินหน้าประเทศอย่างสมดุล ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการป้องกันโรค ซึ่งนับเป็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างยิ่ง
โดย : นฤนาถ พงษ์ธร