ผ่านไปแล้ว สำหรับการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิค(APFinSA) ซึ่งประกอบไปด้วยนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน 9 ประเทศ ประชุมร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา
และเป็นไปตามคาดว่า นายแมทธิว คัง อดีตนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินสิงคโปร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคนใหม่ แทนนายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ซึ่งหมดวาระไป
ภายหลังการประชุม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายบรรยง อดีตประธาน APFinSA ว่า จะฝากเรื่องอะไรถึงประธานคนใหม่บ้าง นายบรรยงตอบว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะคุณแมทธิวร่วมงานกับ APFinSA มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำให้เขารู้วัฒนธรรมและทิศทางของสมาคมดี เชื่อว่า APFinSA อยู่ในมือของคนมีฝีมือแล้วครับ
“แต่ถ้าอยากจะฝาก ผมอยากจะฝากถึงคนในอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยมากกว่า เนื่องจากในที่ประชุมของนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิต 9 ประเทศ ทุกปี เราจะมีการให้ประเทศที่มีความก้าวหน้ามาก มาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในประเทศของเขา และพบว่าการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งดูเหมือนจะดีในแง่ทฤษฎี แต่เมื่อนำมาปฏิบัติ กลับให้ผลร้ายในระยะยาว ยกตัวอย่าง เช่น
ในบางประเทศ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคของเขามีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองมาก พอที่จะผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายหลายเรื่องที่เขาเชื่อว่าดีกับผู้บริโภค ไม่ว่าการลดค่านายหน้าลง เพราะเห็นว่าผู้บริโภคเห็นความสำคัญของประกันชีวิตเองแล้ว โดยที่ตัวแทนประกันชีวิตไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก หรือการยกเลิกระบบหัวหน้าหน่วย เพราะเชื่อว่า การบริหารงานขายที่มีหลายชั้น จะทำให้ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายหลายต่อ
แต่ข้อเท็จจริงคือ งานขายประกันชีวิตไม่ใช่แค่ไปวางแผน แต่ต้องมีศิลปะในการชักชวน โน้มน้าวใจ ชี้ให้เห็นถึงความรัก ความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อครอบครัว ซึ่งต้องมีพี่เลี้ยงในการฝึกอบรมในช่วงแรกที่เข้ามา ที่สำคัญคือ ถ้าไม่มีหัวหน้าหน่วยชวนตัวแทนเข้ามา ตัวแทนใหม่น้อยรายที่เชื่อว่าตนเองทำได้และสมัครเข้ามาทำเอง
สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคยังมองว่าคำแนะนำของตัวแทนประกันชีวิตมีความสำคัญต่อฐานะการเงินของประชาชนมาก จึงเสนอว่าตัวแทนทุกคนต้องพัฒนาเป็นที่ปรึกษาการเงิน(FA)คุณภาพ เหมือนทนายความ เหมือนนักบัญชี ดังนั้นทุกคนต้องจบปริญญาตรีทางวางแผนการเงิน ใครที่เรียนไม่ได้ ต้องออกจากธุรกิจไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มความเข้มงวดให้ที่ปรึกษาการเงิน เมื่อไปขายประกันชีวิต ต้องกรอกเอกสารประมาณ 30-50 หน้า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจเนื้อหาของกรมธรรม์จริง และลูกค้ามีคุณสมบัติ มีกำลังซื้อที่จะทำประกันชีวิตแบบนั้นๆได้ตลอดสัญญา ทำให้ที่ปรึกษาการเงินต้องเลือกขายเฉพาะบางคนที่มีฐานะดี และสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ปีละ 100,000 บาทขึ้นไป
จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้ตัวแทนประกันชีวิตหรือ FA ที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว ลดลงไปอีกประมาณ 50% ขณะที่ลูกค้าระดับกลางและล่างไม่ได้รับความสนใจจาก FA ที่ไปเสนอขาย เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่าในการไปวางแผนและบริการในระยะยาว ที่ปรึกษาการเงินจึงกลายเป็นอาชีพที่มีไว้บริการชนชั้นสูงหรือคนร่ำรวย เหมือนอาชีพทนายความ
“จากความตั้งใจที่ดี แต่ถ้าเข้มงวดเกินไป บังคับใช้เร็วเกินไป คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์ เพื่อให้พวกเราเห็นภาพผมขอยกตัวอย่างเหมือนว่า รัฐบาลมองว่าจักรยานและจักรยานยนต์มีความเสี่ยง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงบังคับให้ร้านค้า ขายได้เฉพาะรถยนต์ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินที่มากพอ ไม่สามารถซื้อรถยนต์มาใช้ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น” นายบรรยงกล่าว
“โดยทั่วไป สังคมจะดีขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างต้องคิดให้รอบคอบ ต้องดูบทเรียนจากประเทศต่างๆ ว่าใช้แล้วได้ผลจริงในทางปฏิบัติหรือไม่ เรื่องนี้ทางสำนักงานคปภ.ซึ่งเป็นผู้คุมกฏ และเป็นผู้รับผิดชอบในการออกกฎระเบียบต่างๆ จึงต้องมองให้รอบด้าน ก่อนที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใดๆเข้ามาบังคับใช้ในประเทศไทย”
“สำหรับผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต ที่พยายามนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ในการบริหารงานและบริการลูกค้านั้น เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่อย่าถึงกับตัดคนกลาง คือตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตออกไป เพราะจากบทเรียนในต่างประเทศไม่ว่า สหรัฐอเมริกาหรือสิงคโปร์ ประชาชนยังต้องการตัวแทนประกันชีวิตเป็นเพื่อนคู่คิดในการวางแผนการเงิน และเป็นที่ปรึกษาเมื่อมีปัญหาการเคลมเกิดขึ้น” นายบรรยงเน้นย้ำ
อนึ่งในวันที่ 18 มิถุนายน เวลา 13:00 น. สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน(THAIFA)ได้ร่วมกับ APFinSA จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง”โต้คลื่นการเปลี่ยนแปลง” ทางระบบออนไลน์ฟรี ผ่าน Facebook Live (www.facebook.com/thaifanews) เพื่อให้พวกเราเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศ เพื่อตัวแทนจะได้เตรียมรับมือ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายอื่นๆ จะได้ใช้เป็นบทเรียนในการที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเข้ามาสู่ธุรกิจของตน