ระบุขณะนี้พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่สายพันธุ์อินเดียพบมากที่สุดในกทม. ขณะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบเพิ่มทางภาคใต้ 28 ราย และที่ SQ สมุทรปราการอีก 3 ระบุผลทดสอบ ซิโนแวคกับสายพันธุ์จีน ภูมิขึ้น 100% สายพันธุ์อังกฤษ ขึ้น 50-60% ส่วนสายพันธุ์อินเดีย และแอฟริกาใต้กำลังทดสอบ รวมทั้งในแอสตร้าฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย.64 ในจำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 คน หรือร้อยละ 89.6 ส่วนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 496 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 ,สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 3 คน จังหวัดที่พบสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด คือ กทม. 404 ราย อัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 เป็น 9.8 ปทุมธานี 28 ราย นครนายก 8 ราย สกลนคร 3 ราย พะเยา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย และจังหวัดละ 1 รายที่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี บุรีรัมย์ อุดธานี เลย ขอนแก่น อุดรธานี และจันทบุรี ด้านสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากที่พบ 26 ราย ได้พบเพิ่มอีก 2 ราย และยังพบอีก 3 ราย ในสถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ ด้วย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ของสายพันธุ์ไวรัสโควิด คาดว่าภายในไม่เกิน 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เนื่องจากการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าถึงร้อยละ 40 นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ได้เตรียมศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้รับมีผลต่อสายพันธุ์หรือไม่ โดยเก็บเลือดอาสาสมัคร 200 คนแล้วมาเพาะกับเชื้อไวรัส ดูภูมิคุ้มกัน พบว่าในส่วนสายพันธุ์ดั้งเดิม (จีน ) เมื่อร่างกายรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เกิดภูมิคุ้มกันได้ 100% แต่เมื่อตรวจสอบกับไวรัสสายพันธุ์อัลฟา พบมีภูมิขึ้น 50-60% แต่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และเบตา (แอฟริกาใต้) ยังอยู่ระหว่างทดสอบดูภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการติดตามระดับภูมิคุ้มในวัคซีนแอสตราเซเนกาเมื่อฉีดไปแล้ว 1 เข็ม ทั้งนี้ นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ จะทำเฉพาะในผู้ที่มีอาการรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสี่ยงเสียชีวิต ,กลุ่มที่พบการระบาดจำนวนมาก และมีความเชื่อมโยงกัน ,พื้นที่ที่ไม่มีการระบาด แต่กลับพบเคสคนป่วย ,พื้นที่ชายขอบ และได้รับวัคซีนแล้วยังพบติดเชื้อ