โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก เริ่มมองเห็นรูปร่างชัดเจนขึ้น และในอนาคตหากโครงการที่วางไว้แล้วเสร็จจะเป็นภูมิภาคที่มีระบบเชื่อมโยงและแบ่งปันน้ำ สร้างประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจในพื้นที่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานเปิดสถานีสูบน้ำคลองสะพาน จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.64 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก ที่จะสามารถเพิ่มน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองได้กว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อปี เพื่อให้อ่างฯประแสร์ เป็นอ่างศูนย์กลางหรือฮับ ในการกระจายน้ำไปยังอ่างบริวารใน จ.ระยองและชลบุรี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในทุกด้านทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ของรัฐบาลในพื้นที่ 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศทั้งการเป็นศูนย์กลางผลไม้ การท่องเที่ยวและการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในปี 2564 มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1,054 ล้านลบ.ม. และคาดการณ์ว่าในปี 2574 หรือ 10 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการน้ำใช้เพิ่มอีกประมาณ 358 ล้านลบ.ม. โดยพื้นที่จังหวัดชลบุรี จะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากที่สุด จำเป็นที่จะต้องหาน้ำต้นทุนเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีนโยบายบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมและเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนทำให้ไม่มีปัญหาการจัดสรรน้ำ
"กรมชลประทานจึงได้มีการวางโครงการเพื่อจัดหาปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่ม ทั้งการพัฒนาศักยภาพอ่างเก็บน้ำเดิม การสร้างระบบสูบกลับ การผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำกรณีอ่างเก็บน้ำใดมีปริมาณน้ำส่วนเกินหรือไม่เพียงพอจะได้สูบกลับเพื่อช่วยเหลือระหว่างกัน และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ โดยโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกจะมี อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรีและอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำที่สำคัญของพื้นที่ ส่งต่อผ่านโครงข่ายไปยังอ่างลูกข่ายทั้งภูมิภาค ปัจจุบันบางโครงการแล้วเสร็จเช่นโครงการสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ และบางโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการ การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตต้องเริ่มทันทีเพราะแต่ละโครงการต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง"
สำหรับแนวทางดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของภาคตะวันออกและป้องกันการขาดแคลนน้ำในเขต EEC ได้มีการวางโครงการไว้ 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยนำความเห็นและข้อเสนอของทุกภาคส่วนมาร่วมกันปรับแก้ทั้งปริมาณความจุของอ่าง การลดพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2.โครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯประแสร์ได้กว่า 70 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 3.โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 ปัจจุบันมีความพร้อมดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างฯประแสร์ได้กว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 4.โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรีปัจจุบันมีความพร้อมที่จะดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระได้กว่า 80 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี
"ในอนาคตหากโครงการผันน้ำประแสร์ -หนองค้อ -บางพระ แล้วเสร็จ จะทำให้อ่างบางพระมีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถช่วยเหลือเติมน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วนในจังหวัดชลบุรี เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นหากระบบโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกสามารถเดินหน้าโครงการได้ และแล้วเสร็จสมบูรณ์ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประเทศทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆรวมทั้งการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ดังนั้นจะเห็นว่าน้ำคือปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออก"
อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของกรมชลประทานในการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชลประทานก็คือการสร้างความร่วมมือของภาคประชาชน ที่มาจากการสร้างความเข้าใจ การรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และจับมือพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพราะต่างก็ต้องการน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่