( 16 มิ.ย. 64 ) .เมื่อพูดถึงตัวชันโรง หรือ จะเรียกว่าผึ้งจิ๋ว ลักษณะตัวเล็กคล้ายผึ้ง มีคุณลักษณะเด่น และประโยชน์มากมาย ถือเป็นตัวชี้วัดหากมีชันโรงอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น จะปลอดจากการใช้สารเคมี ปัจจุบันชันโรงมีอยู่หลายชนิดกระจายอยู่ในพื้นที่ ประเทศ ทั่วทุกภูมิภาค อาศัยอยู่ในรูตามเหลือบ ตามซอก ในโพรงไม้ โพรงดิน กองวัสดุ ท่อน้ำ และบ้านพักอาศัย ปัจจุบันมีความสนใจเลี้ยงชันโรงมากขึ้น เพราะเชื่อว่าน้ำหวานที่ได้จากชันโรง มีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้ง มีคุณค่าทางยาสูง การเลี้ยงใช้กล่องไม้หลายรูปทรงในกล่องเดียว ทั้งแบบสี่เหลี่ยมทรงสูง แผ่นกั้นวางเป็นชั้นประมาณ 4 ชั้น แบ่งออกเป็น 1-2 ชั้นล่างสุด จะเป็นที่วางไข่และอาหาร ส่วนชั้นที่ 3-4 จะเป็นชั้นของน้ำหวานจะวางไว้รอบ ๆ บ้าน มีการจดบันทึกระบุ วัน เดือน ปี ที่เริ่มเลี้ยงไว้ทุกกล่อง เพื่อให้สามารถตรวจสอบระยะเวลาการเลี้ยงเก็บน้ำหวานได้ชัดเจน นางสาว ไพรินทร์ ชูรอด อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/1 หมู่ 1 ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรินชูชันโรงบ้านบางกล้วย เกิดความสนใจ จึงได้รวมกลุ่มกันเลี้ยงชันโรง มีเพื่อนสมาชิกประมาณ 50 คน ทดลองเลี้ยงแบบธรรมชาติ ด้วยต่อไม้ แบบใส่กล่อง ส่วนกระบอกไม้ไผ่ห้อยเรียงแถวยาวไว้ข้างบ้านเพื่อไว้ดักจับตัวชันโรงในธรรม เพื่อนำมาเป็นเลี้ยง การเลี้ยงมีจดบันทึก ระบุ วัน เดือน ปี วางไว้บริเวณบ้าน พร้อมกับปลูกดอกบัว และดอกไม้อื่นๆไว้ใกล้กล่องเลี้ยง เนื่องจากช่วงหน้าฝนจะได้สะดวกในการหาอาหารใกล้แหล่งเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนมะพร้าว และสวนผลไม้ของเกษตรกรที่จะไม่ใช้สารเคมี ทำให้ชันโรงสามารถอยู่อาศัยและหากินเกสรดอกไม้ ผลไม้ อาหารนำมาผลิตเป็นน้ำหวานมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี ทางด้านคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มองเห็นความสำคัญจึงนำนักศึกษาในโครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T นำโดย ผศ. สุนิสา โพธิ์พรม ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.รัชนิดา รอดอิ้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชา นำนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อสร้างงาน รวมทั้งพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้าหมาย กำหนดระยะเวลา 1 ปี ทั้งการเริ่มพัฒนาทักษะการทำงานด้านต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการใช้เทคโนโลยีดีจิตัล ทักษะด้านการเงิน ภาษาอังกฤษ และทักษะสังคม รวมทั้งทักษะเฉพาะด้าน ที่สอดคล้องกับงานพัฒนาชุมชน พร้อมกับการจัดทำข้อมูลของชุมชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ของแต่ละตำบลในการทำแผนยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ช่วยเหลือชุมชน ต่อยอดการเลี้ยงชันโรง เพื่อเพิ่มมูลค่าหาช่องทางการตลาดจำหน่ายช่วยเหลือชาวบ้านมีรายได้ และยังเป็นส่วนดีที่ชาวบ้านหยุดอยู่กับบ้านในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ทำให้มีรายได้เสริมอีกทาง นายรัฐธนินท์ สิริฉัตรวิชัย อายุ 46 ปี กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงชันโรงมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ครั้งแรกมีชันโรงอยู่ 2 รัง อยู่ที่ท้ายรถกระบะและที่เสาบ้าน ตอนนั้นภรรยาเดินเข้าบ้านจะมีชันโรงพยายามตอมที่ศีรษะทุกวัน จึงสงสัยและพยายามศึกษาตัวชันโรงที่สามารถทำประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน จึงพบว่าชันโรงมีประโยชน์ช่วยผสมเกสร น้ำหวานชันโรงมีมูลค่าดี และมีการเชิญอาจารย์ท่านหนึ่งมาอบรมให้กับชาวบ้าน จึงมีโอกาสเข้าไปร่วมอบรมด้วย พร้อมได้ชันโรงมา 1 รัง เริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเลี้ยงหลายสายพันธุ์ ที่บ้านจะมีพันธุ์ขนเงิน รุ่งอรุณ ถ้วยดำ อิตาม่า ปากแตร และ ปากหมูจะเป็นพันทางภาคใต้ ซึ่งนำมาทดลองว่าแถบบ้านเราเลี้ยงได้มั๊ย แต่ส่วนใหญ่จะเน้นพันธุ์ขนเงิน เป็นพันธุ์พื้นถิ่นที่นี่ โดยแถบนี้จะมีอาหาร รอบบ้านไม่ใช้สารเคมี เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย มีต้นมะพร้าว กล้วย ส้มโอ จะกินอาหารจำพวกนี้ ส่วนอีกแห่งจะอยู่ที่ อ.ดำเนินสะดวก ไว้เป็นที่ขยายพันธุ์อีกแห่งช่วยเรื่องการผสมเกสรของผลไม้ด้วย สำหรับน้ำหวานชันโรง ราคาขายขวดขนาด 200 ML ราคา 400 บาท ขณะนี้เริ่มมีเครือข่ายแล้วได้กระจายไปยังเพื่อนสมาชิก เพื่อกระจายแหล่งอาหาร ได้ชักชวนชาวบ้านหารายได้เสริมมีสมาชิกอยู่ 50 คน และจะแจกตัวกระบอกล่อ ที่ล่อในธรรมชาติ และจะรับซื้อจากสมาชิกเอามาลงรังเลี้ยงแล้วมาเก็บน้ำหวาน โดยจะใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นตัวล่อ ทาชันโรงพร้อมกับทาฟีโรโมนเหยาะด้านใน เพื่อให้ชันโรงเข้าไปทำรังก่อน จากนั้นก็จะนำกระบอกนี้ไปสู่กล่องเลี้ยงอีกครั้ง ตอนนี้รายได้จากน้ำหวานยังไม่มี เพราะอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยธุรกิจนี้ได้ทำอยู่ที่บ้านคนเดียวก่อน แต่ได้ประสบความสำเร็จจากที่มองเห็นน้ำผึ้งอยู่ด้านในกล่องแล้ว รอเพียงการจำหน่าย ขณะนี้ได้แยกขยายเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ใครสนใจมีจำหน่ายแม่พันธุ์อยู่ที่จำนวน 1 รังราคา 1,200 บาท สามารถนำไปแยกขยายต่อได้อีก หลังจากที่รับจากที่นี่แล้วใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็แยกขยายต่อได้อีก อาจารย์ ดร.รัชนิดา รอดอิ้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชา กล่าวว่า ได้มุ่งเน้นให้ชาวบ้านสร้างรายได้จากการขายกล่องก่อน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงเพิ่มขึ้นในชุมชน การเลี้ยงชันโรงเป็นตัวชี้วัดอาหารปลอดภัย เพราะตัวชันโรงต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีสารเคมี ถ้ามีการฉีดสารเคมีตัวชันโรงจะไม่อาศัยอยู่ พื้นที่ชุมชนจะต้องปลอดภัย โดยการส่งเสริมให้เลี้ยงชันโรงก็จะทำให้ชุมชนเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่แผนของเราคือ ให้เกิดการซื้อขายตัวชันโรงมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายคนเลี้ยง นอกจากนี้น้ำหวานที่เกิดจากการเก็บชันโรง คาดว่าถ้ามีโครงการในเฟสถัดไปจะผลิตเป็นเซรั่มบำรุงผิวที่มาจากตัวชันโรง มีคุณสมบัติช่วยต่อต้านริ้วรอย บำรุงผิว แก้สิว เป็นขั้นต่อไปที่อยากจะทำต่อยอดต่อไปในอนาคต ตอนนี้ที่ได้จากการเลี้ยงคือ น้ำหวาน ซึ่งคุณภาพเป็น 5 เท่า ของน้ำผึ้งที่ตัวผึ้ง เพราะชันโรงมีคุณสมบัติทางยา เรื่องเป็นสมุนไพรทางยา เป็นยาอายุวัฒนะแทนน้ำผึ้งได้ จากผลการวิจัยพบว่าตัวน้ำหวานชันโรงเป็นเครื่องยา ดังนั้นการกินน้ำหวานชันโรง จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงมากกว่าการกินน้ำผึ้ง นายมงคล ศรีเอี่ยม นักศึกษา กล่าวว่า ได้เข้ามาช่วยเรื่องการสำรวจพื้นที่ ว่า มีการเลี้ยงชันโรงพันธุ์อะไรบ้าง มีการประยุกต์การใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง เช่น เขาได้นำคิวอาร์โค้ดมาแปะที่กล่องเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งได้มาสำรวจออกแบบโลโก้จัดจำหน่ายให้ ส่วนการพัฒนาต่อไปคือ การออกแบบโลโก้เพื่อพัฒนาการต่อยอดขายสินค้า ช่องทางเพจ ตำบลจอมประทัดโมเดล และทางยูทูปตำบลจอมประทัด และยังมีการไลฟ์สดกับคนที่สนใจสินค้าชันโรง มีคนสนใจจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาศึกษาดูงานด้วย สำหรับน้ำหวานจากชันโรง ที่ได้แต่ละสายพันธุ์ จะมีสีที่ค่อนข้างแตกต่างรวมถึงรสชาติ เช่น น้ำหวานจากพันธุ์อิตามา เป็นสายพันทางใต้ ที่ให้น้ำหวานเยอะ สีใสอ่อน รสชาติอมเปรี้ยวนิด ๆ ส่วนพันธุ์ขนเงิน จะมีสีเข้ม รสชาติออกหวานนำเปรี้ยวเล็กน้อย อาจเป็นด้วยฤดูกาลของการหาเกสรดอกไม้ของแต่ละช่วง ซึ่งที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรินชูชันโรงบ้านบางกล้วย ยังทำกล่องไม้เลี้ยงชันโรงจำหน่ายแก่ผู้สนใจราคากล่องละ 150 บาท แต่หากจะนำไปเลี้ยงจำหน่ายกล่องพร้อมแม่พันธุ์ราคากล่องละ 1,200 บาท ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน สามารถแยกขยายพื้นที่นำไปเลี้ยงต่อได้อีก ส่วนเวลาการเก็บน้ำหวานในกล่องนั้น จะใช้มือเปิดดูพลาสติกที่ปิดด้านหน้ากล่อง จะพบปริมาณของน้ำหวานที่บรรจุอยู่ด้านใน ซึ่งการเลี้ยงชันโรง ยังถือเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของชาวบ้านที่มีพื้นที่การเลี้ยงแบบง่าย ๆ ได้อยู่กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ทำให้ชุมชนเกิดความปลอดภัย สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรินชูชันโรงบ้านบางกล้วย เบอร์ 095- 5859298 หรือ ติดต่อที่เพจ รินชูชันโรงได้