อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ไขและบรรเทาความทุกข์ร้อนเรื่องน้ำของคนไทย เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว ในปี พ.ศ. 2521 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธาร จังหวัดปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และอุปโภคบริโภคตลอดปี และในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” เขื่อนแห่งนี้อยู่ในพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี เป็นเขื่อนที่สามารถป้องกันน้ำท่วม รักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกง และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นชลประทานขนาดใหญ่ เขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) สูง 33 เมตร ยาว 3,970 เมตร มีทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปี เขื่อนได้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝน ที่ลดน้ำท่วมในพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย ในหน้าแล้งสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในระบบชลประทานแม้ระบบยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมดก็ตาม สามารถผลักดันน้ำเค็มที่เคยรุกล้ำลุ่มน้ำปราจีนและบางปะกงจนก่อเกิดความเสียหายต่อแปลงเพาะปลูกและการผลิตน้ำประปาของทั้ง 2 จังหวัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมทุกปี ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว “ในลุ่มน้ำปราจีนและบางปะกง ประมาณ 170 กิโลเมตร ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่ผ่านมาน้ำเค็มรุกส่งผลกระทบต่อน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปา ตั้งแต่ฤดูแล้งปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันปัญหานี้บรรเทาไปโดยสิ้นเชิง และขณะที่ระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ปีหนึ่งประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ราษฎรสามารถสูบน้ำจำนวนนี้ไปใช้ในด้านการเกษตรได้ เช่นสวนทุเรียนปราจีนบุรี 3 - 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม เนื่องจากอ่างเก็บน้ำอยู่กลางอุทยานแห่งชาติจึงสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่ายังผลให้ป่าไม้สัตว์ป่าฟื้นคืนและกลับมาหากินในพื้นที่มากขึ้น เช่น หมี ช้าง และกระทิง ขณะที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ คือน้ำท่วมถึงก็ได้เปลี่ยนอาชีพจากการเพาะปลูกมาเป็นชาวประมงจับปลาในอ่างเก็บน้ำแล้วนำมาแปรรูปสร้างรายได้อย่างมหาศาลในปัจจุบัน ขณะที่ธรรมชาติก็สวยงามเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน” นายวิเชียร เหลืองอ่อน กล่าว ผู้อำนวยการโครงการฯ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนราษฎรอย่างครบวงจร ทางโครงการฯ ได้ใช้พื้นที่ 10 ไร่ จัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวทางการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ ด้วยการขุดสระน้ำ 1.6 ไร่ ทำนาข้าว 1.8 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข. 43 ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ โดยดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่ไถ ดำ ดูแล เก็บเกี่ยว สีเป็นข้าวสาร การบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปสาธิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ นำไปปฏิบัติใช้ เนื่องจากในพื้นที่ราษฎรทำนามากถึง 40,000 กว่าไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งหมดที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นจุดศึกษาดูงานในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ นายสุริยะ อุทระภาศ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำวังอ้ายป่องสามัคคี ซึ่งเป็นกลุ่มชลประทานฝั่งขวา ซึ่งได้รับประโยชน์จากการส่งน้ำระหว่างการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง เปิดเผยว่า ราษฎรส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกปาล์มน้ำมัน อาโวคาโด และทุเรียน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส เพราะไม้ผลอื่นๆ ขายได้ราคาและมีตลาดที่ดีกว่า และมีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปีในการนำมาใช้บำรุงต้นพืช นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะเข้าไปศึกษาดูงานพร้อมทั้งฝึกอบรมในศูนย์เรียนรู้การทำการเกษตรด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองในโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ซึ่งได้จัดทำขึ้น เพื่อให้บริการในการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ “ล่าสุดผมและชาวบ้านได้เข้าไปดูงานและฝึกอบรมเรียนรู้การเกษตรจากศูนย์ฯ ทำให้มีความรู้ในการทำการเกษตรอย่างถูกวิธีและใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำในแปลงปลูก ทำให้ได้รับผลผลิตตลอดทั้งปีจากพืชที่ปลูกที่ต่างจากการปลูกเชิงเดี่ยว ที่สำคัญตั้งแต่มีเขื่อน ในพื้นที่เพาะปลูกไม่พบปัญหาน้ำท่วมอีกเลย ในช่วงฤดูแล้งก็มีน้ำเพียงพอ ตอนนี้มีประชาชนทั้งในพื้นที่ และต่างถิ่นเดินทางมาดูงานและศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจำนวนมาก” นายสุริยะ อุทระภาศ กล่าว ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานฝั่งขวา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ราษฎรในพื้นที่ปัจจุบันยังได้ประกอบอาชีพจับปลา โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ประมง ปลาที่จับได้ส่งให้สหกรณ์นำไปขายในท้องตลาดไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทำให้สมาชิกมีรายได้ที่มากขึ้น ในอ่างเก็บน้ำมีปลาหลากหลายชนิดสามารถจับได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธรรมชาติอันสวยงามของพื้นที่โครงการฯ มีความสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วไปสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วหน้า โดยเฉพาะการนำผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว นับได้ว่าอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อทำการเก็บกักน้ำ เพียง 3 ปี แต่ประโยชน์ที่พึงได้รับมีมากกว่าน้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำ “ชาวจังหวัดปราจีนบุรีต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างยิ่ง ทุกคนจะน้อมรำลึกถึงพระองค์ด้วยการทำความดี ร่วมกันดูแลรักษาโครงการที่พระองค์พระราชทานมาให้ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จฯ เปิดโครงการฯ และทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าถึงช่องทางในการดำรงชีวิต และการทำกินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” นายสุริยะ อุทระภาศ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานฝั่งขวา กล่าว