"ชวน" ระบุไม่มีดองร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาฯ ก่อนแก้รธน. "วิษณุ" แจง ฝ่ายค้านยื่นแก้ รธน.มาตรา 256 ไม่ถือว่าขัดแย้งคำพิพากษา ส่วน "จุรินทร์" คาดร่างแก้รธน.ฉบับพรรคร่วมรบ.ยื่นสภาฯได้ในสัปดาห์นี้ มั่นใจ "พรบ.ประชามติ" ผ่านแน่ ขอฝ่ายค้านอย่ากังวล "ก้าวไกล" ย้ำจุดยืนยกเลิก รธน.ปี 60 ทำรธน.ฉบับใหม่ ปิดสวิสซ์ "ส.ว." ล้มระบอบ "ประยุทธ์"
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่ค้างวาระ ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติและพ.ร.บ.ยาเสพติด ว่า จะกำหนดการประชุม 3 วัน 22-24 มิ.ย.นี้ โดยในวันที่ 22 มิ.ย. กำหนดให้พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ ในวาระการประชุม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ยาเสพติด จากนั้นในวันที่ 23 มิ.ย.จะ พิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่นำเรื่องนี้มาไว้ช่วงหลังของการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายได้เตรียมความพร้อม และตรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องทำให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จก็ยังสามารถพิจารณาต่อในวันที่24 มิ.ย.ได้
นายชวน กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลพยายามจะเสนอให้พิจารณาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ว่า ประธานฯ จะเป็นผู้จัดวาระการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัว จึงจะนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไว้ทีหลัง ยืนยันว่ากฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ และเมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านออกมาดักทางกลัวว่าจะเตะถ่วงการพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ นายชวน กล่าวว่า ต้องพิจารณาอยู่แล้วไปเตะถ่วงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นกฎหมายอื่นก็จะเข้ามาพิจารณาไม่ได้ หากยังมีกฎหมายค้างอยู่ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลเสนอเลื่อนการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเร็วขึ้นมาเพียงวันเดียว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอาไว้ให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมดีกว่า ซึ่งได้รับทราบมาว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 มิ.ย. รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา และยังมีภาคประชาชน ที่ประสานขอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย หากยื่นทันก็จะสามารถบรรจุระเบียบวาระในการประชุมเดียวกันได้
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้มาตราดังกล่าวเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องทำประชามติก่อน แต่ขณะนี้กฎหมายประชามติ ยังค้างอยู่ในสภาฯ สามารถทำได้หรือไม่ ว่าทำได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นคน ละ เรื่องกัน เนื่องจากกระบวนการแก้ไขมาตรา 256 ยาว มี 3 วาระและต้องมีการทิ้งระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้กฎหมายประชามติก็เหลืออีกไม่กี่มาตราก็จะเสร็จในขั้นตอนรัฐสภา และต้องมีขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ กว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถึงขั้นตอนการทำประชามติก็ต้องใช้เวลา คาดว่าจะไปบรรจบกันพอดี การที่ฝ่ายค้านจะยื่นมาตราดังกล่าวไม่ถือว่าขัดแย้งกับคำพิพากษา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์มีด้วยกัน 6 ร่าง และมีร่างของพรรคภูมิใจไทยอีก 1 ร่าง รวมทั้งหมด 7 ร่าง ซึ่งหารือร่วมกันเบื้องต้นแล้ว ซึ่งนายชินวรณ์ บุญเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค ได้แจ้งมาแล้วว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงชื่อ เพื่อให้ครบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนั้นจะยื่นต่อประ ธานรัฐสภาอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้
"ส่วนการลงมติก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคที่จะพิจารณา และประชาธิปัตย์ก็มีแนวอย่างที่ผมได้กล่าว อะไรนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เราก็สนับสนุนและประสงค์จะเห็นการแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ฝ่ายค้านเสนอให้พิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกังวลว่าจะโหวตไม่ผ่านและจะทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขนั้น เชื่อว่ากฎหมายประชามติผ่าน และยังไม่เห็นเหตุอะไรที่จะไม่ผ่าน ขณะนี้กฎหมายประชามติก็ค้างอยู่ในสภา เพราะว่าพิจารณายังไม่จบครบทุกมาตรา เมื่อเปิดสภามา ประธานรัฐสภา ก็นัดบรรจุระเบียบวาระก็พิจารณาต่อให้จบ ทุกพรรคช่วยกันลงคะแนนสนับสนุนเท่านั้นเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นได้กฎหมายก็ผ่าน และกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นและเกี่ยวพันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบางมาตราบอกว่าถ้าจะแก้ จะต้องเอาไปทำประชามติด้วย ฉะนั้นถ้าไม่มีกฎหมายประชามติก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ทุกท่านทราบดี ซึ่งประชาธิปัตย์ก็พร้อมยกมือให้สนับสนุนเต็มที่
ส่วน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมสมาชิกพรรค แถลงว่า จากผลการการประชุม พรรค เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่า 1. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มาจากการรัฐประหาร ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง และจัดทำประชามติ 2.การเสนอแก้ไขรัฐ ธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ในหลายมาตรา เป็นการเบี่ยงเบนเป้าหมาย ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกฯต่อไปอีก 3.การพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี60 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน ดังนั้นการแก้ไขรายมาตราควรจึงเห็นชอบให้เสนอ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช.ซึ่งพรรคจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนยื่นประธานสภาในวันที่16มิ.ย.นี้ 4. ที่ประชุม มีมติ ไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสสร.เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว 5.เรื่องระบบการเลือกตั้ง พรรคเห็นว่า หากจะมีการแก้ ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ ได้ประโยชน์มากที่สุด
"พรรคจึงเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าว คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบและเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำ นวณจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำและได้สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรค ซึ่งหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก ทุกเสียงต้องถูกนับ"