วันที่ 15 มิ.ย.64 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า ไม่เป็นความจริง การแก้ไขเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงแก้ไขอำนาจของ ส.ส. ในการประสานกับหน่วยงานราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในส่วนการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เป็นประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ชี้ว่าพรรคก้าวไกลที่ไม่เห็นด้วยเพราะกังวลว่าพรรคตัวเองจะสูญพันธุ์ และชี้ว่าประเด็นนี้เป็นความเห็นแตกแยกขัดแย้งกันเองระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้าน “ผมมั่นใจว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐจะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการในวันที่ 23 - 24 มิ.ย.นี้ด้วย เพราะมีเสียงของพลังประชารัฐ จำนวน 122 ส.ส. หรือรวมพรรคประชาธิปัตย์อีก 50 เสียง และเสียง ส.ว.อีก 250 รวมแล้วมากกว่า 400 เสียง และหากเพื่อไทยเห็นด้วยก็เกิน 500 เสียง ซึ่งจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ต้องผ่านความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และต้องให้ ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 โดยอ้างอิงว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างของพลังประชารัฐ” นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่โหวตให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่เป็นประเด็นหลักของพรรค 5 ประเด็น เช่น การเสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ขณะที่ประเด็นการแก้มาตรา 272 ของพรรคเพื่อไทย นั้น ตนเชื่อว่าจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์วาระรับหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐและวุฒิสภาจะไม่ยกมือให้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22-24 มิ.ย.นั้น จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นถึงจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มิ.ย.จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาศึกษา 30 ถึง 45 วันก่อนที่จะเข้าสู่วาระที่ 2 พิจารณารายมาตราในช่วงเดือนต้น ส.ค. หากให้ความเห็นชอบแล้วเสร็จก็พักไว้ 15 วัน จากนั้นนำกลับเข้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ช่วงปลายเดือน ส.ค. หรือต้นเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นเป็นการแก้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 65 “ผมยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคนละเรื่องเดียวกันกับการยุบสภา ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อรองรับการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยเชื่อว่านายกฯจะยังไม่ลาออกหรือยุบสภาตามที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา และไม่เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด ต้องการไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่มีเหตุให้ยุบสภา และเห็นว่ามีเพียงพรรคฝ่ายค้านไม่กี่คนที่เดือดร้อนกับดำรงตำแหน่งครบวาระของนายกรัฐมนตรี แต่ประชาชนทั้งประเทศอีกหลายล้านคนสบายใจรัฐบาลมั่นคง นายกรัฐมนตรีฝีมือ”นายไพบูลย์ กล่าว นายไพบูลย์ กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถที่จะทำโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.)ได้ แต่ต้องเป็นการดำเนินการสมาชิกรัฐสภามาตรา 156 และตั้งกรรมาธิการมาดำเนินการ ซึ่งไม่แตกต่างกับการแก้ไขแบบรายมาตรา และเชื่อมั่นว่าญัตติการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านไปไม่รอด