หลังพบเพศชายป่วยมากขึ้นซึ่งอาจทำให้การรับผู้ป่วยโควิดชายล่าช้าเล็กน้อย ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ยังเพิ่มไม่หยุดในหลายจังหวัดทั้ง กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม ปราจีนบุรี รวม 138 ราย รวมติดเชื้อในปท.วันนี้ 2,995 ราย มาจากต่างประเทศ 5 ราย มีลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายจากกัมพูชา 1 ราย ยอดติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขังลดลง 784 ราย ขณะที่หายป่วยสูงขึ้น 4,774 ราย ยังรักษาอยู่ 38,061 ราย อาการหนัก 1,249 ราย ใส่เครื่องช่วย 365 ราย พบ 24 จ.ไม่มีติดเชื้อเพิ่ม เบาหวานความดันไขมันในเลือดสูง ยังเป็นปัจจัยให้เกิดความรุนแรง และเป็นการติดตากคนอื่นและในครอบครัวมาก
วันที่ 15 มิ.ย.64 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3,000 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,995 ราย (แยกเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 1,814 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 541 ราย
จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 640 ราย) และเดินทางมาจากต่างประเทศอีก 5 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 202,264 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 19 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตขยับไปที่ 1,485 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 4,774 ราย รวมยอดรักษาหาย 162,718 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 38,061 ราย เป็นการรักษาอยู่ในรพ.13,039 ราย รพ.สนาม 25,022 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,249 ในจำนวนผู้ป่วยหนักนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 365 ราย
เฉพาะการระบาดในระลอกเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 15 มิ.ย.64 พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 3,000 ราย โดยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 173,401 ราย รักษาหายเพิ่ม 4,774 ราย รวมรักษาหายแล้ว 135,292 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 38,061 ราย เสียชีวิต 19 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,391 ราย
รายละเอียดผู้เสียชีวิต 19 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 8 ราย อายุ 34-92 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม.มากที่สุด 11 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สระบุรี 2 ราย นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี ยะลา จังหวัดละ 1 ราย โดยมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ โรคไต โรคปอด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้ เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว และคนอื่นๆ มากสุดเช่นเดิม เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน อาศัยและเดินทางเข้าไปในสถานที่ระบาด อาชีพเสี่ยง ขับรถรับจ้าง
สำหรับ 10 อันดับที่พบผู้ป่วยภายในประเทศสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร 872 ราย
อันดับ 2 สมุทรปราการ 336 ราย
อันดับ 3 ปทุมธานี 202 ราย
อันดับ 4 สมุทรสาคร 163 ราย
อันดับ 5 นครปฐม 88 ราย
อันดับ 6 ระรอง 76 ราย
อันดับ 7 ฉะเชิงเทรา 72 ราย
อันดับ 8 ปัตตานี 61 ราย
อันดับ 9 สงขลา 57 ราย
อันดับ 10 นนทบุรี 56 ราย