สทนช.ยืนยันฤดูแล้ง 2563/64 ที่ผ่านมา รัฐบาลวางมาตรการและแผนเชิงรุกรับมือภัยแล้งประสบผลสำเร็จ ชี้นิยามการประกาศพื้นที่ภัยแล้งตามหลักเกณฑ์ภัยพิบัติ ส่วนปัญหาข้าวนาปีขาดน้ำในปัจจุบัน เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง "บิ๊กป้อม" สั่งบูรณาการเร่งให้ความช่วยเหลือ มั่นใจสถานการณ์จะคลี่คลาย
จากกรณีที่ นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่าประเทศไทยไม่มีภัยแล้ง เป็นการโกหกประชาชนหรือไม่ เพราะในความเป็นจริง เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศไทย ข้าวกำลังยืนต้นตายหมด เพราะชลประทานไม่ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นั้น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชี้แจงว่าช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกันล่วงหน้า โดยได้กำหนดมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง เพื่อแจ้งเตือนทำความเข้าใจกับประชาชน โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนโดยจัดลำดับความสำคัญที่ประชาชนต้องไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคก่อนอันดับแรก และประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลือรายพื้นที่หรือบรรเทาผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด ส่งผลให้ไม่มีการนำเงินทดรองราชการมาใช้ในการบรรเทาภัยพิบัติ ทำให้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการประกาศให้เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มีหลักเกณฑ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จะเป็นผู้ประกาศร่วมกับคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างละเอียด และมีความเสียหายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่จากสถานการณ์ปลายฤดูแล้งต่อเนื่องฤดูฝนพบว่ามีบางพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งต่อเนื่อง ล่าสุด ปภ.ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วจำนวน 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ดังนั้น สิ่งที่ ส.ส.พิษณุโลก กล่าวอ้างถึงรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยไม่มีภัยแล้งจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
“ช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 ( 1 พ.ย. 63 - 30 เม.ย.64) ขณะนั้นมีน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั้งสิ้น 19,868 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 42% คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรน้ำสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เกษตรกรรม และ 4.อุตสาหกรรม รวมถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค.2564 ด้วย ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้ในบางพื้นที่มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเกินเป้าหมายบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับฝนในปีนี้ตกเร็วกว่าปกติ ทำให้มีน้ำต้นทุนเข้ามาหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร หลายพื้นที่จึงพ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำ"ดร.สมเกียรติกล่าว
เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า จากกรณีที่ฝนในปีนี้มาเร็วกว่าปกติ และตกหนักตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งได้เริ่มทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปีซึ่งเร็วกว่าทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยแล้วฝนยังตกน้อยด้วย ส่งผลให้เกษตรกรที่เริ่มทำการเพาะปลูกฤดูฝนปี 2564 ได้รับผลกระทบการขาดแคลนน้ำ กอนช.จึงได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน กฟผ.เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดต้ั้งเครื่องสูบน้ำช่วยสูบช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะกรมชลประทานขณะนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี น้ำอุปโภค-บริโภค และพืชไร่
"สถานการณ์น้ำของประเทศล่าสุด (15 มิ.ย.64) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ทั้งนี้ กอนช. คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 15-21 มิ.ย.นี้ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จะมีปริมาณน้ำไหล เข้าอ่างฯ กว่า 277 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำเริ่มคลี่คลายลง สามารถบรรเทาปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียได้จากภาวะฝนทิ้งช่วงได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ สทนช. เร่ง บูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำโดยเร็ว อย่างเป็นธรรมและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะข้าวนาปีที่เกษตรกรปลูกในขณะนี้"เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย