“อิทธิพล” รมว.วัฒนธรรม เผยอาคารกลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ จ.พังงา ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ในเดือนธ.ค. 2564 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ Zoom โดยที่ประชุมได้รายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อเป็นสถานที่ที่รำลึกเหตุการณ์ และการเฝ้าระวังเหตุการณ์พิบัติภัยแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่คนไทยไม่เคยประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวเช่นนี้มาก่อน ทั้งยังเป็นสถานที่เก็บหลักฐานของเหตุการณ์และยังแสดงถึงความร่วมมือของคนไทยและคนทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมรำลึกทุกปี รวมทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืน ขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิและงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และวธ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนดำเนินงานและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯได้ในเดือนธันวาคม 2564 สำหรับพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิสร้างบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ โดยอาคารจัดแสดงหลักเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งในรูปแบบของคลื่น และมีช่องเปิดรับแสงเป็นทรงกลมแบบฟองคลื่นกระจายตามความยาวของอาคารทำให้ภายในอาคาร เกิดที่ว่างคล้ายท้องคลื่นยาวตลอดห้องจัดแสดง โดยมีหอเตือนภัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นแลนด์มาร์กที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพได้โดยรอบและพื้นที่โครงการฯ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร จัดแสดงเรือประมง 2 ลำ ที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาเข้ามาจากชายฝั่งเหลือร่องรอยยังคงเป็นวัตถุพยานที่สำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น 2.ส่วนบริการ ภายในมีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูล ส่วนขายของที่ระลึก มีห้องมัลติมีเดียจัดฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยสึนามิ เป็นการนำเข้าสู่เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการ 3.ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงที่ร้อยเรียงเรื่องราวประกอบวัตถุจัดแสดงซึ่งเก็บรวบรวมจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยลำดับของการจัดแสดงโซนที่ 1 สัณฐานของบ้านน้ำเค็ม โซนที่ 2 เรื่องเล่าจากผู้ประสบภัย โซนที่ 3 ความรู้เบื้องต้นธรรมชาติของสึนามิ โซนที่ 4 เล่าเรื่องจากวัตถุ โซนที่ 5 และ 6 เป็นเรื่องราวต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากภัยพิบัติในด้านการเรียนรู้และป้องกัน ส่วนสุดท้ายโซนที่ 7 เป็นบ้านพื้นที่ที่เปิดให้ชุมชนสามารถเข้าใช้สอยในกิจกรรมของชุมชน และ4.พื้นที่สนับสนุนอื่นๆ เช่น พื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบอาคาร