วันที่ 14 มิ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของ กทม.หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.ส่งวัคซีนให้ไม่เพียงพอ ว่า ขอทำความเข้าใจตรงกันว่า สธ.เป็นผู้จัดส่งวัคซีนไปทั่วประเทศตามข้อสั่งการของ ศบค.และตามข้อตกลง 3 ฝ่าย คือ ศบค., กรมควบคุมโรค และหน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น วัคซีนทุกขวดที่ออกไปจากกรมควบคุมโรคออกไปด้วยข้อตกลงที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กรมควบคุมโรคกระจายตามดุลพินิจตัวเอง เพราะฉะนั้นหากมีปัญหาในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ต้องเป็นผู้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หรือหน่วยงานที่รับวัคซีนทั้งรัฐและเอกชนที่รับวัคซีนจาก กทม.ไปแล้วมีปัญหาหรือฉีดหมดแล้ว อย่าเพิ่งโพสต์ ขอให้โทร.ไปปรึกษาสำนักอนามัย หรือสำนักการแพทย์ กทม.ให้เรียบร้อยก่อน
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วัคซีนยังคงเข้ามาตามเวลาที่กำหนดไว้ มีเป็นล็อตๆ เหมือนเดิม โดยจำนวนวัคซีนของเดือนมิถุนายน มีข้อตกลงกับทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด ตามตารางที่อธิบดีกรมควบคุมโรคถือไว้ ถ้าส่งไปไม่ตรงจำนวนในตารางต้องมีคนรับผิดชอบ ยืนยันว่า ไม่มีการปรับการให้วัคซีน กทม. ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด สัปดาห์ที่แล้วให้ กทม.ไป 5 แสนโดส คนรับไปก็ต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้เหมาะสมกับวัคซีนที่ได้รับจัดสรรมา อาจจะต้องลดระดับการฉีดลงมาให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ใช่มาประกาศปิด ประชาชนก็เข้าใจ ว่าวัคซีนขาด แต่ความจริงวัคซีนไม่ได้ขาด
“อำนาจบริหารจัดการเรื่องวัคซีนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สธ.เป็นผู้ปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ศบค.แจ้งข้อสรุปใดๆ มา สธ.ก็ปฏิบัติทุกประการ เป็นการทำงานแบบบูรณาการ ถ้าทุกหน่วยงานต้องการสร้างความนิยม ไปแย่งกันทำงาน ไปกำหนดนโยบายของตัวเองก็คงลำบาก ไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ยกเว้นถ้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ แล้วส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนเฉพาะหน้าแบบนั้น สธ.ก็คงใช้ดุลพินิจในการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ก่อนอย่างกรณีของหมอพร้อม” นายอนุทิน กล่าว
โดย นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีหมอพร้อม ว่า ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคตรวจดูว่า กลุ่มที่จองผ่านหมอพร้อมก่อนที่ ศบค.จะชะลอการนัดมีกี่คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ กับบุคคลที่เป็น 7 โรคเรื้อรัง ที่ควรจะได้รับวัคซีนก่อนเพราะเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งตรงนี้ถูกเท สธ.จะรับมาฉีดเอง เพราะมีสถานีกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ศรีธัญญา รพ.ราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก ฯลฯ จะเก็บตกในเขต กทม.มาฉีด ซึ่งตอนนี้หมอพร้อมตัวเลข 4 แสนกว่าคน หาก กทม.ยังทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากไม่ได้ สธ.พร้อมรับมาฉีดวัคซีนให้ผ่านพ้นไปได้และถูกต้องตามระบบการป้องกันควบคุมโรค
อีกทั้ง นายอนุทิน กล่าวว่า เดือนมิถุนายนยี้ ตามกำหนดต้องฉีดผู้สูงอายุและคนเป็น 7 โรคเรื้อรัง ส่วนคนทั่วไปจะเป็นเดือนสิงหาคม ซึ่งในกลุ่มสูงอายุและโรคเรื้อรังสมควรรับวัคซีนโดยด่วน ในความเข้าใจที่อธิบดีกรมควบคุมโรครายงานมา คิดว่าอยู่ในโควตาของ กทม.อยู่แล้ว แต่อาจจะมีความผิดพลาดเรื่องของการลงบันทึก พอ กทม.ไปลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ จึงควรย้ายวันเวลานัดจำนวนของหมอพร้อมไปไทยร่วมใจด้วย รวมถึงหารือกับสำนักงานประกันสังคมให้ตัวเลขชัดเจน