กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อย่างปราณีต รวมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้เกษตรกรรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (14 มิ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,783 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,854 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,920 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,224 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศรวม 6.63 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 39.81 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 52.77 ของแผน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 มิ.ย.64 เป็นต้นไป จนถึงเดือน ก.ค.64 ปริมาณฝนและการกระจายตัวของฝนจะลดลง อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรบางพื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงขอให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะทำการจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตร และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังได้กำชับ ไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบถึงสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำปัจจุบัน รวมทั้งรอบเวรการใช้น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ พร้อมบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเก็บกักน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่ กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา