สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งว่า จากสถานการณ์ covid- 19 ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปจึงต้องปรับวิธีการเรียนตามรูปแบบที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ใน 5 รูปแบบ คือ On site (เรียนที่โรงเรียน) Online (เรียนผ่านระบบออนไลน์) On air (เรียนผ่านดาวเทียม) on demand (เรียนผ่านแอพพลิเคชั่น) on hand (จัดใบงานให้นักเรียนเรียนที่บ้าน) ทั้งนี้ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่แต่ไม่ว่าจะมีการจัดการเรียนรู้แบบใดกระทรวงศึกษาธิการก็มีความห่วงใยและคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ความปลอดภัยของนักเรียนยังหมายรวมถึงนักเรียนจะต้องเรียนอย่างมีความสุข และเกิดความปลอดภัยในทุกด้าน เพราะหากสถานศึกษาไม่ปลอดภัย หรือเกิดการถูกละเมิดไม่ว่าจะเป็นทางกาย เพศ วาจา และจิตใจ ย่อมนำมาซึ่งความรุนแรงที่สร้างผลกระทบโดยตรงกับความสามารถและการพัฒนาศักยภาพของเด็กทั้งสิ้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้วางมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิด พร้อมกับจัดทำคู่มือปฏิบัติเพื่อให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือตั้งแต่มาตรการต้องการการปราบปรามเพื่อดำเนินการทางวินัยและทางกฎหมาย พร้อมทั้งช่วยเหลือเยียวยาด้วย ไม่เพียงเท่านั้นความปลอดภัยในสถานศึกษา ความปลอดภัยของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา มีหลากหลายมิติ ดังนั้น การทำงานเพียงลำพังของกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่อาจครอบคลุมความปลอดภัยได้ในทุกมิติ จึงได้พยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดตั้ง safety center เพื่อดูแลความปลอดภัยโดยมีคณะกรรมการที่สามารถตรวจสอบการดำเนินงานแต่ละระดับได้ ทั้งนี้โรงเรียนก็จะต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองตามบริบทของพื้นที่จากนั้นก็จะนำข้อมูลไปประเมินเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป ดังนั้น สถานศึกษา จึงต้องให้ความร่วมมือและมีความพร้อมในหลากหลายมิติ เช่น ความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโรค การเรียนรู้ และต้องครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส รวมถึงการประเมินสถานศึกษาให้ผ่านทั้งหมด 44 ข้อใน thai stop covid นอกจากนี้ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ประชาชนทุกคนต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนออกจากบ้านทุกวัน และปฏิบัติตามมาตรการ 6 พลัส อยู่ห่าง สวมแมสก์ หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ลดแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาจะเริ่มตั้งแต่การบูลลี่ การใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน การแสดงความเห็นต่าง ทักษะการเอาตัวรอด เช่น ทักษะการว่ายน้ำ ความปลอดภัยด้านการจราจร รวมไปถึงความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ทั้งนี้ การดำเนินการเบื้องต้น สพฐ. จะมอบหมายให้โรงเรียนสำรวจว่ามีเรื่องใดบ้าง เพราะเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับครูนักเรียนในด้านต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องนำไปสู่สถานศึกษาปลอดภัยอย่างแท้จริง