สพด.นนทบุรี หนุนโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ให้กลุ่มเกษตรกร ผลิตพืชผักปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นางจริญญา ศรภูงาม ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS กล่าวว่า จากเดิมทำงานโรงงาน มีความคิดที่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน และเนื่องจากแม่เป็นเกษตรกร ปลูกผัก แรกเริ่มก็ปลูกผักส่งตลาดทั่วไป แต่ก็ประสบปัญหาตรงที่ว่าถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง คือไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง ไม่มีสิทธิ์ต่อรองราคา ต่อมาปี พ.ศ.2554 มีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่นั้นมาตลาดเริ่มกว้างขึ้น และได้เข้าร่วมโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS กับทางสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี ในปี พ.ศ.2562 มีสมาชิก 15 ราย รวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรปลูกผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี มีตลาดรองรับ ใส่ใจทุกกระบวนการผลิต ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูกและตัวของผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งเทคนิคการทำเกษตรดีๆ และองค์ความรู้ต่างๆในการปลูกพืชผักที่ปลอดภัย ได้มาจากสถานีพัฒนาที่ดินนทบุรี พืชผักที่ทางสมาชิกเกษตรกรปลูกเป็นหลัก เช่น ผักบุ้ง ผักโขม คะน้า กวางตุ้ง กระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น ใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปลูก เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช โดยสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี ได้มาส่งเสริมอันดับแรกคือ ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช นอกจากนั้น ยังได้เข้ามาให้ความรู้ ปัจจัยการผลิต สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพของทางกรมพัฒนาที่ดิน จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้มีการตลาดรองรับที่แน่นอน ราคาเป็นที่น่าพึงพอใจกับเกษตรกรสมาชิก ในอนาคตทางกลุ่มมีการวางแผนกระจายสินค้าไปตามห้างต่างๆ โดยใช้ชื่อแบรนด์เป็นของกลุ่ม PGS ซึ่งจะเป็นการยกระดับสินค้าของของกลุ่มเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ด้านนางสาวกุลณัฐ ศรีมูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี กล่าวว่า ด้วยการลงพื้นที่เพื่อดูแลกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS แล้ว ยังสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่มทางกลุ่ม ทำให้เกษตรกรสมาชิกให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในทุกๆกิจกรรมที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีได้เข้ามาส่งเสริม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีดูแลอยู่มี 26 แปลง 2 กลุ่ม เริ่มจากเก็บตัวอย่างดินของเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการ ส่งเสริมเกษตรกรในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อจะได้สนับสนุนเกษตรกรให้ปรับปรุงดินให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการปลูกพืช นอกจากนี้ ยังสนับสนุนในการให้ความรู้เกษตรกร ในการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS สนับสนุนหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรให้ได้มาตรฐานตามเกษตรอินทรีย์ อย่างเช่น สนับสนุนพืชสมุนไพร วัสดุในการที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตามมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.ต่างๆ ที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ซึ่งข้อดีของเกษตรอินทรีย์ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้สุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิตปลอดภัยจากสารเคมี ผู้บริโภคก็จะได้รับผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี "โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ทำให้เกษตรกรปลูกพืชผักที่ปลอดภัยและมีตลาดรองรับแล้ว ยังทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางเกษตร ได้ทักษะความรู้ มีรายได้ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรหลายรายที่สนใจเกษตรอินทรีย์ PGS ได้หันมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองจากอาชีพทำเกษตรเกิดความยังยืนที่เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม"นางสาวกุลณัฐ กล่าว