พบไม่ล้างมือทั้งก่อนและหลังการส่งอาหารถึงเกือบ 30% ขณะพื้นที่สีแดงเข้มสูงสุด 4 จว.ใช้บริการเดลิเวอรี่เกินกว่า 50%
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี ทำให้ผู้ประกอบการประเภทดังกล่าวต้องคุมเข้มปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซี่งจากการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.– 9 มิ.ย.64 ประเด็นการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีและการปฏิบัติตามคำแนะนำป้องกันโรคของผู้ให้บริการ พบว่า ประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 73 จังหวัด ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี ร้อยละ 35
ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 4 จังหวัด มีการใช้บริการถึงร้อยละ 53.9 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-44 ปี ใช้บริการร้อยละ 29 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 45–59 ปี ใช้บริการร้อยละ 28 ขณะที่กลุ่มวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แม้จะใช้บริการเพียงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นช่วงของการปิดเทอมอยู่กับบ้าน แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องดูแลให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากอาหารที่สั่งด้วย โดยต้องให้เป็นอาหารที่หลากหลายและถูกหลักโภชนาการ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติตนของผู้ส่งอาหารตามคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในภาพรวมพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 4 จังหวัดนั้น ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยที่พบปฏิบัติได้มากที่สุดคือ การสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ให้บริการ ร้อยละ 97.5 รองลงมาคือ รับจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment ร้อยละ 93 และผู้ส่งแต่งกายสะอาดหรือสวมใส่ชุดฟอร์มที่กำหนดในขณะปฏิบัติงาน ร้อยละ 92.6 ตามลำดับ ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่พบในกลุ่มผู้ส่งอาหารคือ ไม่ทำความสะอาดมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร ร้อยละ 27.6 จึงอาจเป็นความเสี่ยงในการสัมผัสสิ่งของและแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ไปยังผู้ซื้อได้ ดังนั้น ขอให้ผู้ส่งอาหารทุกคนทำความสะอาดมือด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัสบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหาร แม้ว่าจะสวมถุงมือก็สามารถฉีดพ่นบนถุงมือได้เช่นกัน
“ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งอาหารเดลิเวอรีทุกคนสร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยปฏิบัติ 4 ข้อหลักอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง คือ 1) เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 2) มีการคัดกรองพนักงานรับส่งอาหารอย่างจริงจังทุกวัน 3) มีระบบการติดตามอาการป่วยและพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานโดยอาจเลือกใช้การประเมินผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” และ 4) มีการจัดทำ Time line ของพนักงานในการจัดส่งอาหารแต่ละวัน
สำหรับผู้สั่งซื้ออาหารนั้น ให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อออกมารับอาหาร และให้ยืนห่างจากผู้ส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากผู้ส่งอาหารทุกครั้ง และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว