ประเทศไทยเรามีโรคระบาดมีทั้งในคน ในสัตว์และในพืช ล่าสุดที่จ.อุดรธานีเกิดโรคใบด่างในมันสำปะหลังของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกินพื้นที่แล้วกว่า 50 ไร่ ผู้ว่าต้องพาชาวบ้านเปิดปฏิบัติการฝังกลบทำลายโรคใบด่างต้นมันสำปะหลัง หลังพบมีการระบาดแล้ว ในพื้นที่บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 2 ตำบลหนองนกเขียน อำเภอศรีธาตุ แนะเกษตรกรหากพบให้ถอนทิ้งแล้วฝังกลับทันที ที่บ้านโคกก่อง หมู่ 2 อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่เปิดปฏิบัติการทำลายโรคใบด่างมันสำปะหลังโดยการฝังกลบขุดรากถอนโคนตันมันสำปะหลัง ที่แปลงมันสำปะหลังบ้านโคกก่อง หมู่ที่ 2 ตำบลหนองนกเขียน อำเภอศรีธาตุ หลังผลการตรวจของกรมวิชาการเกษตร ระบุต้นมันในพื้นที่ 5 ไร่เป็นโรคใบด่าง พร้อมบินโดน ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช แปลงข้างเคียง โดยมีนายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี นางสาวศิริกัลยา กิจรักษา นายอำเภอศรีธาตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม ตัดทำลายต้นมันขนลงหลุม ราดด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้วฝังกลบในความลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตร สำหรับแปลงข้างเคียงที่มีการกระบาดเล็กน้อยจะทำลายต้นที่เป็นโรคและต้นข้างเคียง ในรัศมี 2 เมตร ป้องกันการระบาด ด้วยการตัดเป็นท่อนใส่ถุงหรือกระสอบตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้แห้งตาย สำหรับโรคใบด่าง ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus เข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 พื้นที่ระบาด 1,490 ไร่ ใน 7 จังหวัดชายแดน คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ในปี 2562 ขยายการระบาดเป็น 45,400 ไร่ ,ปี 2564 พบพื้นที่ระบาด 74,853 ไร่ ใน 18 จังหวัด กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ระยอง ลพบุรี สระบุรีสุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานีและอุดรธานี การแพร่ระบาดเกิดจากการใช้ท่อนพันธ์ที่เป็นโรคมาปลูกและมีการระบาดของแมลงหวี่ขาวยาสูบ จังหวัดอุดธานี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 500,000 ไร่ สำรวจพบโรคใบด่างมันสำปะหลังพันธุ์ CMR 89 จำนวน 50ไร่ ในพื้นที่บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 2 ตำบลหนองนกเขียน อำเภอศรีธาตุ ทันทีที่ทราบว่าเกิดโรคฯจังหวัด ได้แจ้งให้ทุกอำเภอประชาสัมพันธ์การป้อกันและกำจัด มาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมาขึ้นทะเบียน ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ( ทบก.)และให้ทุกอำเภอสำรวจโรคใบด่างฯในแปลงมันสำปะหลังทุกแปลงในพื้นที่ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด ระยะเวลาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 - ก.ย. 2564 กรณีเกษตรกรยินยอมให้ทำลายแปลงมันฯที่เป็นโรค ได้รับค่าขดเชย ไร่ละ 2,160 บาทสนับสนุนท่อนมันสะอาด 500ลำ/ไร่ กรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค มีความผิดตามพ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 มาตรา 20 ตรี ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ,มาตรา 24 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอฝากเตือนไปยังเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พบเห็นอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าเป็นโรคใบด่างฯให้ถอนทิ้งแล้วฝังกลบทันทีและรีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรตำบล เกษตรอำเภอในพื้นที่ และหลีกลี่ยงการนำท่อนพันธุ์มาจากนอกพื้นที่