กรมศิลป์เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ตนและนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร นายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม และคณะทำงานผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม หรือกลุ่มอาคารศุลกสถาน เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานและกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่กรมศิลปากรได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ โดยกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ทส์ ลิมิเต็ด ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุ แปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน ตามที่ได้มีการเสนอรูปแบบรายการ เพื่อพัฒนากลุ่มอาคารศุลกสถานดังกล่าว ให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม Custom House Hotel ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารให้คงอยู่กับพื้นที่ โดยอาคารศุลกสถานเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดิน ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ประวัติ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2427 มีอาคารไปรษณียาคาร และอาคารภาษีขาเข้า-ขาออก เมื่อกิจการภาษีเจริญขึ้นจึงได้มีการกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลูกสร้างอาคาร “ศุลกสถาน” (Custom House) โดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2429 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2433 และได้ใช้เป็นที่ทำการเรื่อยมาจน พ.ศ. 2492 นับเป็นเวลากว่า 60 ปี จนเมื่อมีการเปิดท่าเรือทันสมัยแบบสากลที่ท่าเรือคลองเตย จึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่คลองเตยจนปัจจุบัน กลุ่มอาคารศุลกสถานจึงเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่เป็นตัวแทนบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการคลังของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเทคนิคการก่อสร้างอาคารยังทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ที่ใช้โครงสร้างแบบพิเศษแบบยุโรป ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่หลัง อย่างอาคารกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนอัสสัมชัญ ในการพิจารณาแนวทางการปรับปรุงพื้นที่นั้น กรมศิลปากรได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย นักโบราณคดี สถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการในโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์ที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการอนุรักษ์แบบสากล และรักษาคุณค่าของอาคารโบราณสถาน ที่อยู่ในสภาพชำรุดตามกาลเวลา และด้วยสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มอาคารศุลกสถานอยู่ในระดับต่ำและต้องรับปริมาณน้ำจากที่ไหลมาจากพื้นที่โดยรอบ ในเบื้องต้นกรมศิลปากรได้อนุญาตให้กรมธนารักษ์โดยกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการด้านโบราณคดี เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบในการออกแบบบูรณะกลุ่มอาคารโบราณสถาน เสริมความมั่นคงและยกระดับความสูงของอาคารทั้งสามหลังขึ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ตามสภาพและข้อจำกัดของแต่ละอาคาร ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและคัดเลือกวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันไปในแต่ละจุดค่อยๆ ยกอาคารขึ้นอย่างระวัดระวัง ขณะนี้การดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ “สำหรับแนวทางในการดำเนินการภายหลังการยกกลุ่มอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จ ทางกิจการร่วมค้าฯ จะต้องจัดทำรูปแบบรายการในการบูรณะกลุ่มอาคารศุลกสถาน เพื่อเสนอให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนจะดำเนินการต่อไป” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว