นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ติดตามผลความก้าวหน้า และเพิ่มศักยภาพ (Upside Potential) โครงการ SMART TAMBON ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เยี่ยมชมเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการปลูกพืชและปศุสัตว์ เล็งประกาศเป็นตำบลต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยกจน หลังพบว่าผลการดำเนินโครงการมาสามารถช่วยยกระดับรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ พร้อมเตรียมขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆให้ครอบคลุม
ทั้งนี้โครงการ Smart Tambol Model ตำบลคำพอุง ถือว่าเป็นต้นแบบในความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกร โดยได้เน้นความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อหาช่องทางการตลาดและการบริหารจัดการ เพราะปัญหาของเกษตรกรคือการหาตลาดว่าผลิตแล้วจะขายให้ใคร จึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตามความต้องการของตลาดจะทำให้เกิดรายได้อย่างแท้จริงและทำให้ผู้บริโภคมั่นใจถึงการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นโมเดลตำบลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ที่จะหลุดพ้นความยากจนและพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะนำโมเดลนี้ปขยายผลยังพื้นที่อื่นๆในจังหวัดเพิ่มเติม
"ทางจังหวัดจะประกาศให้ตำบลคำพอุงเป็นตำบลต้นแบบในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งได้ร่วมมือกับกระทรวง อว.ในการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลอีก 18 ตำบล และจะมีโครงการพัฒนาต่อในปี 2565 – 2566 โดยในเฟสต่อไปจะให้มีโครงการ Smart Tambol เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ตำบล และจะขยายให้ตำบลอื่นๆที่มีความพร้อมหรืออยากพัฒนาให้เป็น Smart Tambol เข้ามาร่วมโครงการได้"
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้การทำการเกษตรกลับมาฟื้นคืนชีพจากเดิมที่คนเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่น ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มเดินทางกลับมายังไร่นา การทำเกษตรยุคใหม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มและแหล่งน้ำ ซึ่งขณะนี้เรามีความพร้อมทั้งในส่วนภาควิชาการ ภาคราชการ ที่จะมาสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรและเข้าถึงแหล่งน้ำ แม้น้ำน้อยก็ปลูกพืชได้ ดังนั้นเกษตรกรต้องเลือกปลูกพืชให้เข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่และสิ่งที่สำคัญคือด้านการตลาดโดยเฉพาะโลกตลาดออนไลน์ที่จะต้องสร้างแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงสินค้าด้านการเกษตร และในอนาคตจะมีการจัดตั้งบริษัทพัฒนาจังหวัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและการตลาดมากขึ้น
ด้านนางศิริกัลยา คำพรมมาเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า ในอดีตเคยทำเกษตรปลูกมันสำปะหลังในแบบเดิมๆมาหลายปี ได้ผลผลิตปีละ 4-7 ตันต่อไร่ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ Smart Tambol ก็ได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้และเทคนิคการปลูกใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพของดินที่จากเดิมมีค่าความเป็นกรดสูงรวมไปถึงองค์ความรู้การคัดพันธุ์ การบริการจัดการพื้นที่ว่าจะปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตต่อไรที่มากขึ้น จนปัจจุบันสามารถที่จะปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตปีละ 10 – 11 ตันต่อไร่ได้
สำหรับโครงการ Smart Tambol ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับจังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเครือเบทาโกร ในปี พ.ศ.2562 จัดทำโครงการ Smart Tambol Model นำร่องที่เทศบาลตำบลคำพอุง พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้านด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดการทำงานพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development) หรือ HAB