กระทรวงเกษต รเผยแทรนด์บริโภคสมุนไพรกลุ่มคนรุ่นใหม่มาแรง มูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศปี 62 สูงถึง 5.2 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่มีมูลค่าเพียง 4.3 หมื่นล้านบาท เดินหน้าหนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ มั่งคง ยั่งยืนให้เกษตรกรในภาวะวิกฤติโควิด-19
จากแทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่หันมานิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับเกิดกระแสค่านิยมการบริโภคอาหารปลอดภัยอย่างกว้างขวางทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสทองในการส่งเสริมเกษตรกรไทยปลูกสมุนไพรให้ขว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน มั่นคงแก่เกษตรกรไทยในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในรายการ “เกษตรบอกข่าว” ซึ่งออกอากาศทาง Facebook live : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรฯจะเร่งเดินหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาปลูกพืชสมุนไพรไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกันบูรณาการเดินหน้าผลักดันส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศหันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ ที่มีมูลค่าสูงถึง 52,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าเพียง 43,100 ล้านบาท
"จากความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านวัตถุดิบสมุนไพรภายใต้แผนขับเคลื่อนนโยบายผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560-2565 ของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เล็งเห็นว่าพืชสมุนไพรมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อีกทั้งยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากทิศทางของตลาดสมุนไพรขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับประโยชน์ สามารถผลิตและจำหน่ายได้ตามความต้องการของตลาด เกษตรกรจะมีรายได้และความมั่นคงในการดำรงชีพ ดังนั้นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป”นายทองเปลว กล่าวย้ำ
สำหรับผลการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชสมุนไพรของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐานจำนวน 64,917 ไร่ จำนวน 80 ชนิด แบ่งเป็นพื้นที่ที่มาตรฐาน GAP จำนวน 54,755 ไร่ พื้นที่ที่มาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 13,162 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว จำนวน 60 กลุ่ม มีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร นอกจากนี้ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้มีฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ชัดเจนสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ ส่วนกรมพัฒนาที่ดินก็ได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) จำนวน 24 ชนิด ดังนี้ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น ตลอดจนมีแผนพัฒนาบุคคลากรเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ
ส่วนแผนรองรับด้านการตลาด ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำตลาดกลางโดยทำ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) เป็นโครงการตลาดไท select พืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศสดปลอดภัย มีกำหนดการเปิดตลาดในปลายปี 2564 นี้ รวมทั้งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ( มกอช.) ยังได้จัดทำตลาดอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ DGT Farm กลุ่มสินค้าพืชสมุนไพรมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีสมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็น Product Champion ที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 4 ชนิด คือ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กวาวเครือขาว มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน และ ว่านหางจระเข้ เป็นต้น
“พืชสมุนไพรมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากสามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากทิศทางของตลาดสมุนไพรขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับประโยชน์ สามารถผลิตและจะหน่ายได้ตามความต้องการของตลาดส่วนเกษตรกรก็จะมีรายได้และความมั่นคงในการดํารงชีพ”นายทองเปลว กล่าว