"ศบค." เผย กทม.พบเพิ่ม 3 คลัสเตอร์ใหม่ ตั้งเป้า 14 มิ.ย.ตรวจตลาดครบทุกแห่งทั่วกรุง กรมควบคุมโรค เสนอมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีลแคมป์คนงานกทม. 28 วัน ก่อนนำร่องทั่วประเทศ เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในวันนี้ คือกทม. 942 ราย สมุทรปราการ 173 ราย นนทบุรี 102 ราย สมุทรสาคร 98 ราย นครปฐม 83 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัดคือ บริษัทส่งออกเสื้อถักไหมพรม อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ มีผู้ป่วย 67 ราย โรงงานชำแหละไก่ อ.สามพราน จ.นครปฐม มีผู้ป่วย 63 ราย ตลาดวชิรา อ.เมือง จ.สงขลา มีผู้ป่วย 7 ราย โรงงานถุงมือยาง อ.สะเดา จ.สงขลา มีผู้ป่วย 19 ราย โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีผู้ป่วย 27 ราย ตลาดไทย-กัมพูชา และในชุมชน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มีผู้ป่วย 13 ราย ขณะที่ในกทม.มีการระบาดที่เป็นคลัสเตอร์รวมทั้งสิ้น 78 แห่ง มีคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง คือ แคมป์ก่อสร้างวรสิษฐ์ เขตหลักสี่ พบผู้ป่วย 59 ราย ตลาดซอยละลายทรัพย์ เขตบางรัก 20 ราย โรงงานเย็บผ้า CPG Garment เขตภาษีเจริญ 37 ราย พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กทม.ยังได้รายงานการตรวจสอบตลาดทั้งหมด 486 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. -10 มิ.ย. ว่าตรวจไปแล้ว 406 ตลาด ผ่านเกณฑ์ 324 แห่ง ไม่ผ่านเกณ์ 82 แห่ง ซึ่งสาเหตุไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นการเว้นระยะห่างที่ยังแออัดอยู่ โดยกทม.ตั้งเป้าว่าวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.จะตรวจตลาดให้ได้ทั้งหมด 486 แห่ง อย่างไรก็ตาม หากประชาชนเจอตลาดที่ไม่สะอาดขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้อาจเป็นวิถีชีวิตที่รับกันได้ แต่ตอนนี้เป็นวิถีนิวนอร์มอลต้องพัฒนาให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และในที่ประชุมวันนี้ ทางกรมควบคุมโรคยังได้เสนอมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ เนื่องจากก่อนหน้านี้อาจมีบางแคมป์ปฏิบัติไม่ตรงกัน โดยแคมป์คนงานที่อยู่สถานที่เดียวกับที่ก่อสร้างเราจะใช้มาตรการซีล โดยจะให้มีการจัดหาที่พักให้แก่พนักงาน มีอาหารให้ 3 มื้อ จัดทำทะเบียนสถานที่พัก แต่งตั้งผู้ควบคุมแต่ละหอ โดยมีการลงทะเบียนเข้า-ออกหอพัก ส่วนสถานที่พักที่อยู่คนละจุดกับที่ทำงานนั้นจะมีการตั้งแถว มีผู้ควบคุมกลุ่มที่เดินกลับที่พัก จัดหารถรับ-ส่งพนักงาน และมีระบบติดตามการเดินทางระหว่างที่พักกับจุดทำงาน โดยมาตรการเหล่านี้จะจัดไว้กับกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรง จะกันผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวออกไป เพื่อจะไม่ต้องปิดแคมป์หรือโรงงาน เนื่องจากหากปิดไปก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะคนงานเหล่านี้อาจไปสมัครงานที่อื่นได้ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอว่าให้ใช้มาตรการเช่นนี้ไป 28 วัน ระหว่างนั้นจะมีการสุ่มตรวจ ครบ 28 วัน แล้วจะมีแผนการเปิดจุดต่างๆ โดยจะมีรายละเอียดแถลงออกมา และจะนำมาตรการนี้ไปใช้กับทุกจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ยังฝากไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ทำทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากผู้ว่าฯ มีส่วนสำคัญในการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ