เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟสบุคส์ ระบุว่า มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ และ นิสิตจุฬาฯ ใช้นามปากกาว่า “ทุ่นแดง” และ “ทุ่นดำ” ส่งข้อเขียนวิจารณ์โต้แย้งทรรศนะที่บอกว่า ประเทศไทยเคยเป็น “กึ่งอาณานิคม” มา ผมเห็นว่า ทั้งสองเขียนได้ดี มีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าโต้แย้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ซึ่งหายากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มักเชื่อตามกระแสขบถอย่างง่ายๆ เลยขอนำมาเผยแพร่เพื่อให้เป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป ใครมีข้อเขียนข้อคิดอะไรแปลกๆใหม่ๆ ยินดีเลยนะครับ ——————- ประเด็นของ Common School: สยามกึ่งอาณานิคม? 1. ข้อสรุปของสยามกึ่งอาณานิคม ​เหตุการณ์ของสยามในอดีตที่สามารถเอาตัวรอดมาได้ผ่านกระแสการคุกคามที่เชี่ยวกรากของชาติตะวันตกทำให้ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่าสยามรอดพ้นจากการตกเป็น “อาณานิคม” อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะถึงแม้ว่าสยามจะรอดจากสภาวะอาณานิคม “โดยตรง” แต่กลับต้องตกอยู่ในสภาวะ “กึ่งอาณานิคม” ที่ชนชั้นนำสยามจำต้องรับอิทธิพลแบบอาณานิคมตะวันตก (โดยเฉพาะแบบอังกฤษ) เข้ามาสู่สังคมด้วย ทำให้สยามทั้งถูกผนวกเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจแบบอาณานิคมระดับโลกที่สยามเองก็ร่วมมือเพราะให้ผลประโยชน์แก่ตน และรับความคิดแบบอาณานิคมเข้ามาด้วยผ่านการหาความศิวิไลซ์ โดยข้อสรุปนี้เราสามารถเห็นได้จากหนังสือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในบทที่ 1 หน้าที่ 71 ที่กล่าวว่า ​“อิทธิพลของตะวันตกมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ […] สยามตระหนักในทันใดว่ากำลังถูกวัดด้วยบรรทัดฐานความ “ศิวิไลซ์” ซึ่งมีความหมายของการดำเนินตามแนวคิดตะวันตก ระเบียบสังคม วัฒนธรรม และโลกทัศน์แบบไทยถูกวิเคราะห์เปรียบเทียบ [กับตะวันตก]” ​จากข้อความดังกล่าวได้นำไปสู่บทสรุปของบทที่ 1 ที่ว่า ​สยามได้เข้าร่วมในเศรษฐกิจแบบตลาดและโลกความคิดที่ครอบงำโดยตะวันตกมานานเกินกว่าที่จะยังคงเป็นรัฐศักดินาที่พึ่งพาการควบคุมกำลังคนและการค้าอยู่เช่นเดิม สยามจำต้องค้นหาทางออกใหม่ ๆ การค้นหานี้จะยุติลงด้วยการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลถัดมา [หมายถึงรัชกาลที่ 5] ​กุลลดาจึงเห็นว่ารัฐสยามที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เกิดขึ้นได้เพราะอิทธิพลของตะวันตก และยังเสนออีกด้วยว่าก่อนหน้านั้นไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนี้ยังปรากฏหนังสือเล่มอื่น ๆ อาทิ “อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก” ของ ไชยันต์ รัชชกูล ที่นำเสนอการเปลี่ยนผ่านของสยามภายใต้ระบบทุนนิยมของอาณานิคมตะวันตก และ “กำเนิดสยามจากแผนที่” ของธงชัย วินิจจะกุล ทีเป็นแกนหลักของ “Common School” ในการ “รื้อถอน” ประวัติศาสตร์ฉบับทางการของไทย (หรือประวัติศาสตร์ “ไทย” ในความเข้าใจของคนไทยทั่วไป) โดยธงชัยได้กล่าวถึงสภาวะกึ่งอาณานิคมไว้ครั้งหนึ่งว่า ลักษณะของกึ่งอาณานิคมสยามเป็นสองด้าน คือ แม้จะได้รับการกดดันจากตะวันตก แต่ชนชั้นนำก็ร่วมมือเป็นอย่างดีในฐานะตัวแทนท้องถิ่น เพราะสยามได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย ดังนั้น การรักษาเอกราชของชนชั้นนำ จึงเป็นเรื่องเดียวกับการรักษาสถานะที่เหนือกว่าของตนหรือบริเวณอื่น ๆ ในภูมิภาค จะเห็นได้ว่าอิทธิพลตะวันตกจึงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และถึงแม้จะไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ (โดยตรง) แต่ก็ถูกกำกับจากชาติมหาอำนาจในสมัยนั้นอย่างแยกไม่ออก 2. ข้อวิจารณ์ ​การเกิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดตะวันตกนั้นฟังดูมีน้ำหนักและมีตัวอย่างงานวิชาการรองรับมากมาย แต่อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอกเท่านั้น เพราะกระบวนการปรับตัวตามระบอบเศรษฐกิจในระดับโลก (Globalize) เป็นกระบวนการที่ทุก ๆ รัฐในโลกที่ต้องการมีพื้นที่ในตลาดโลกขณะนั้นจำยอมต้องทำตามอยู่แล้ว เช่น ระบบเงินตรา ราชการสมัยใหม่ระบบชั่ง กฎหมาย ระบบชั่ง/ตวง/วัด การเดินทะเล) หรือกระทั่งความพยายามแทรกแซงและต่อรองผลประโยชน์ต่อกิจการภายในสยามจากชาติจาก ๆ อันเป็นผลมาจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่สยามได้ทำ “สนธิสัญญาไม่เสมอภาค” กับนานาประเทศไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ​ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏปัจจัยภายในสำคัญ ๆ อีกด้วย อาทิ ประเด็นเรื่องอำนาจที่กระจัดกระจายไปอยู่ในมือของขุนนางต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งขุนนางสายบุนนาคที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ หรือกระทั่งเจ้าหรือขุนนางท้องถิ่นชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามหัวเมืองในพระราชอาณาจักร ล้วนส่งผลต่อการพยายามก่อร่างสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบสมัยใหม่แบบ Nation-State ซึ่งมีความจำเป็นต้องรวบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินที่กระจัดกระจายมาแต่เดิมมาไว้ที่ส่วนกลาง อำนาจทุกอย่างยึดโยงกับพระมหากษัตริย์และระบบกฎหมายใหม่ที่อิงตามตะวันตก รวมทั้งให้อำนาจส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดในเรื่องที่เป็น The Primary Functions of State (กิจการพื้นฐานอันสำคัญแห่งรัฐ) อาทิ บูรณภาพแห่งดินแดน ความมั่นคง การต่างประเทศ การศาล หรือกิจการใด ๆ ที่ขุนนางท้องถิ่นไม่มีความสามารถหรือไม่สามารถกระทำตามลำพังได้ ดังตัวอย่างในกรณีข้อพิพาทสัมปทานป่าไม้ในหัวเมืองล้านนาที่คนในบังคับอังกฤษพิพาทกับเจ้านายฝ่ายเหนือในช่วงหลังจากที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้เข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง (พ.ศ.2416-2417) โดยรัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้กล่าวถึงกฎหมายนานาชาติว่าด้วยเขตอำนาจที่บัญญัติว่า “เมืองซึ่งมีประเทศอื่นเปนใหญ่กว่านั้น เปนผู้ถืออำนาจภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งเมืองประเทศราชเองใช้ไม่ได้” เป็นข้ออ้างว่าหากสยามไม่คิดจะแก้ปัญหา อังกฤษก็จะลงมือแก้ไขเอง. ดังที่ปรากฏในพม่า เมื่อสถานการณ์ขัดแย้งนั้นไปไกลกว่าจะเจรจาได้ ท้ายที่สุดพม่าต้องเสียเมืองและตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยสมบูรณ์ นี่จึงนับว่าเป็นบทเรียนสำคัญแก่สยาม ท้ายที่สุดรัฐบาลสยามก็ได้แต่งตั้งพระนรินทรราชเสนีขึ้นเหนือไปแก้ไขปัญหา หรือ กรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าเมืองรามัน อันเป็นจังหวัดทางตอนใต้ของสยามกับรัฐเปรัคของอังกฤษ (พ.ศ.2425-2439) ซึ่งปรากฏว่าทางเจ้าเมืองรามันขอให้ทางกรุงเทพฯเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเขตแดนพิพาทเปรัค-รามัน ผลปรากฏว่าอังกฤษก็เคารพการตัดสินใจนี้ของสยามและรามันอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งเสนอเงื่อนไขที่รับรองว่าดินแดนส่วนนี้เป็นของสยาม นี่เท่ากับว่าทางอังกฤษ “เข้าใจ” อำนาจอธิปไตยของสยาม “เหนือ” เมืองรามันเป็นอย่างดี ​กรณีข้างต้นจึงอาจเทียบได้กับญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ที่ต้องสถาปนารัฐชาติแบบตะวันตกขึ้นเพื่อการพัฒนาชาติ โดยฝ่ายศักดินาทั่วประเทศยอมให้ส่วนกลางปฏิรูปแม้จะเกิดการต่อต้านในระยะสั้นบ้างก็ตาม แต่ท้ายสุดก็ยอมถวายอำนาจให้กับสมเด็จพระจักรพรรดิจากสภาวะบีบคั้นจากภายในและภายนอกเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในสายตาของคนท้องถิ่น นั่นคือ การตกอยู่ภายใต้อำนาจของชนต่างชาติต่างภาษา (ที่แทบไม่มีอะไรคล้ายกัน ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-เวียดนาม หรือ สยาม-ลาว-กัมพูชา-มลายู ที่มักมีอะไรที่สามารถ legible – เข้าใจกันได้) ดังจะเห็นได้จากการที่ Sakuma Shozan ขุนนางชื่อดังของญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดว่าญี่ปุ่นควร “รักษาจริยธรรมแบบตะวันออกและเรียนรู้เทคโนโลยีแบบตะวันตก” แนวทางนี้จะถูกใช้ในการพัฒนาญี่ปุ่น และผู้นำจากทั่วญี่ปุ่นก็เห็นพ้องเพื่อป้องกันประเทศจากตะวันตกและทำให้ญี่ปุ่นมีสถานะที่เท่าเทียบกับตะวันตกโดยมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป ดังนั้น กรณีทั้งของไทยและญี่ปุ่น จึงมิใช่แค่การรักษาสถานะเหนือหัวเมืองอื่น ๆ รอบราชอาณาจักร และปฏิรูปการบริหารการปกครองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Standardization) เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกแห่งการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ไปพร้อมกันด้วย ​ทั้งนี้ การสร้างจิตสำนึกแห่งการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ดังกล่าว จำต้องอาศัยผู้ที่มีสภาวะผู้นำ (Leadership) ที่มีลักษณะจับต้องได้ และสามารถประคับประคองสถานการณ์ได้อย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพให้ได้โดยตลอด ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง “พระมหากษัตริย์สยาม” จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะ “อัครเสนาบดีแห่งแผ่นดิน” (ทรงเป็นทั้งประมุขและนายกรัฐมนตรีของประเทศในตำแหน่งเดียวกัน) กระบวนการทำให้เป็นสิ่งจับต้อง/รู้สึกได้นี้ กระทำผ่านการเสด็จทั่วพระราชอาณาจักรของพระมหากษัตริย์สยาม รวมทั้งการผลิตเงินเหรียญ ภาพถ่าย ภาพเขียน และของที่ระลึกที่ได้บรรจุพระบรมฉายาลักษณ์-พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ไว้ เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแก่สยามทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ​อย่างไรก็ดี ความยากลำบากในการปฏิรูปของสยามนั้นมีความซับซ้อนกว่าญี่ปุ่นหลายประเด็น เหตุเพราะภูมิรัฐศาสตร์แห่งญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศเกาะ อาณาเขตจึงค่อนข้างจะตายตัวเพราะล้อมรอบด้วยฝั่งทะเล และญี่ปุ่นมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์น้อยกว่าสยามมาก ทั้งแดนทางใต้บนเกาะริวกิว และชาวไอนุบน เกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือ แต่สยามนั้นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในแหลมทองที่มีภูมิรัฐศาสตร์ติดต่อกับ มลายาของอังกฤษและอินโดนจีนของฝรั่งเศส พื้นที่บางแห่งยังไม่ได้ตกลงหรือปักปันเขตแดนอย่างเรียบร้อยเพราะการสำรวจที่เข้าไม่ถึง หรือความสนใจในการทำแผนที่เขตแดนสมัยใหม่อย่างตะวันตกยังไม่บังเกิด อีกทั้งความแตกต่างของชนภายในพระราชอาณาจักร (the Kingdom of Siam) นั้นมีสูงมาก อันเป็นลักษณะพิเศษของพื้นที่บริเวณนี้ เช่นเดียวกับในมลายา อินเดีย และพม่าของอังกฤษ โดยเจ้าอาณานิคมตะวันตกใช้หลักการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Discrimination) เป็นเครื่องมือในการจัดการกับความแตกต่างนี้ แต่สำหรับสยามนั้นไม่ปรากฏ ดังมีหลักฐานว่าขุนนางจากภูมิภาคหรือพื้นเพไม่ใช่ชาวสยามภาคกลางหลายคน ได้รับการเลื่อนฐานะเป็นขุนนางระดับสูงในระดับเดียวกับขุนนางที่มีพื้นเพเป็นชาวกรุงเทพได้ แต่เรื่องเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในอาณานิคมของอังกฤษในเวลาเดียวกัน เช่น อินเดีย มลายา หรือพม่า ยากที่พวกชาวพื้นเมือง (ยกเว้นเจ้าท้องถิ่นเพราะมีหน้าที่เป็นแค่ตราประทับรับรองให้แก่ข้าหลวงอังกฤษ) จะมีอำนาจในการบริหารแผ่นดินเทียบเท่าคนขาวได้ โดยเฉพาะพวกครึ่งชาติ (Half-blooded) หรือ ยูเรเซียน (Eurasian) จะเป็นพวกที่ถูกกีดกันทั้งในสังคมคนขาวและคนท้องถิ่น คนพื้นเมืองและพวกครึ่งชาติต่าง ๆ กลับไม่ถูกกีดกันหรือเป็นประเด็นอ่อนไหวในสยามเลย กรณีของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด เพราะข้าราชการชาวเวียดนาม มักมีสถานะสูงส่งกว่าชาวกัมพูชา แต่ข้าราชชาวเวียดนามก็ไม่มีวันเทียบชั้นได้กับชาวฝรั่งเศส ​และการตัดสินใจลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงก็หาใช่สิ่งที่สยามจะเต็มใจนัก เพราะเนื้อหาสัญญานี้มีลักษณะไม่เสมอภาค เป็นผลให้ชาติอื่น ๆ ที่ต้องการทำการค้าและเศรษฐกิจของสยามได้อาศัยนำเนื้อความในสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขเรื่องภาษี สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการศาลเป็นต้นแบบเพื่อทำสัญญากับสยาม โดยอาศัยหลักปฏิบัติระหว่างประเทศแบบชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (The Most Favoured Nation : MFN) ซึ่งสยามเองก็รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และพยายามหาหนทางที่จะหลุดจากเงื่อนไขดังกล่าวผ่านการปฏิรูปที่กล่าวมาแล้ว ​น่าเชื่อว่าเงื่อนไขต่าง ๆ จากสนธิสัญญาไม่เสมอภาคข้างต้น ทำให้มีผู้กล่าวได้ว่า “สยามตกอยู่ในสภาวะกึ่งอาณานิคม” (Semi-Colonial Condition /Crypto-colonial condition) เพราะกิจการแห่งรัฐบางเรื่อง สยามต้องยอมกระทำตามเงื่อนไขของชาติตะวันตก เช่น การปฏิรูประบบกฎหมาย การมีที่ปรึกษาต่างชาติ การปรับปรุงระบบราชการ การกินอยู่ของราษฎร (ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกับที่เรียกว่า การทำให้ศิวิไลซ์ - Civilization) รวมทั้งการยอมเสียผลประโยชน์ทางการค้าบางประการ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ปฏิเสธเรื่อง “อิทธิพลแห่งปัจจัยภายนอก” เพราะเงื่อนไขจากปัจจัยเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ “ถูกต้องบางส่วน” เพราะผู้เขียนพบว่า เงื่อนไขเช่นนี้สามารถพบเจอได้ทั่วทั้งโลก ในประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่แต่สยามพบเจออยู่ผู้เดียว (กล่าวให้ชัดไม่ใช่เงื่อนไขที่สยามเผชิญฝ่ายเดียว) แม้แต่ประเทศเอกราชเช่นตุรกี (ออตโตมาน) จีน และญี่ปุ่นก็จำต้องเผชิญ และญี่ปุ่นได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคสำเร็จก่อนสยาม ส่วนทางด้านสยามเองก็พยายามหาทางเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมาตลอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนสำเร็จในขั้นพิธีการในสมัยรัชกาลที่ 6 และดำเนินการในขั้นที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาจนกระทั่งมีผลสมบูรณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ข้ออ้างเรื่องเอกราชสมบูรณ์ เป็น 1 ในหลาย ๆ ปัจจัยที่คณะราษฎรใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แต่กระบวนการดังกล่าวอยู่ในกระบวนการ – processing มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-7 แล้ว) ​จะเห็นได้ว่า แม้อิทธิพลจากชาติตะวันตกเจ้าอาณานิคมจะแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกก็ตาม แต่ยังมีบางรัฐที่แม้จะหลีกเลี่ยงอิทธิพลนั้นไม่ได้โดยตรง เช่น ญี่ปุ่น ตุรกี จีน สยาม (เพราะไม่ได้ถูกพิชิตโดยชาติมหาอำนาจตะวันตก) แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นแห่งรัฐ ชาติเหล่านี้จึงต้องสยบยอมและตกเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง สังคม และเศรษฐกิจระดับโลก” แต่ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวก็หาได้หยุดนิ่งตายตัว แต่กลับเป็นตัวเร่งสร้างให้เกิดพลวัตรภายในต่อมา เช่น กระบวนการเจรจาต่อรองกับชาติมหาอำนาจทีละเล็กละน้อย ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น หากเราใช้ “แว่น” แบบเดียวกับที่ใช้กับสยามก็อาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นเอง “ตกในสภาวะกึ่งอาณานิคม” เช่นกัน หากแต่ในระยะต่อมานั้น ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เพื่อทำให้หลุดพ้นออกจากอำนาจแห่งคนขาวไปได้ (บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค) ท้ายที่สุดญี่ปุ่นได้เลยเถิดไปจนถึงการกล้าหันปากกระบอกปืนใส่“ชาติมหาอำนาจคนขาว” เช่นที่หักหาญกล้านำกองเรือรบประกาศสงครามกองทัพนาวีของรัสเซียในปี ค.ศ. 1904 จนเกิดเป็นสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกต่างตกตะลึงมาก และนี่ก็เป็นสิ่งเดียวกับสยาม (ไทย) ได้เจริญรอยตาม หลังจากที่ชาติได้รับเอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481 และอีก 2 ปีก็มา สยาม (ไทย) ก็ได้เปิดฉากสงครามกับฝรั่งเศสในอินโดจีนเพื่อยึดเอาดินแดนฝั่งน้ำโขงที่เสียกลับคืนมา ​ดังนั้น การมองเรื่อง “สภาวะกึ่งอาณานิคม” จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทบทวนและตั้งคำถามกลับว่า “สภาวะกึ่งอาณานิคม” นี้เป็นคำที่ใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ ? หรือจริง ๆ มันไม่เคยเป็น “สภาวะกึ่งอาณานิคม/อาณานิคมอำพลาง” เลย เพราะสยามเองอยู่ในข้างที่จะมีอิสระในการดำเนินกิจการของรัฐพอสมควร และมีโอกาสในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ยืดหยุ่นมากกว่า เช่น กรณีเจรจาเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษในกรณีหัวเมืองล้านนาและมลายู หรือในทางปฏิบัติแล้ว การที่รัฐบาลสยามเลือกที่จะทำ/จะจ้างที่ปรึกษาชาวตะวันตก สยามสามารถเลือกได้เองว่าจะเป็นใครก็ได้ ส่งผลให้เกิดลูกเล่น (plays) เช่น กระบวนการถ่วงดุลระหว่างชาติมหาอำนาจของสยาม ด้วยสัดส่วนที่เอื้ออำนวยและข้างจะมีความอิสระแก่รัฐบาลสยามมากกว่าการบีบบังคับเอาตามประสงค์นี้ ​ผู้เขียนจึงเห็นว่า การใช้คำว่า “กึ่ง-Semi” ที่มีความหมายว่า “คล้ายกับอาณานิคม/อาณานิคมอำพราง” จึงไม่น่าจะถูกต้อง ทำให้ข้อเสนอเรื่อง “สยามเป็นกึ่งอาณานิคม” นั้นเป็นการการสรุปที่เกินจริง และเป็นการอธิบายในเชิงลบจนมองข้ามข้อเท็จจริงอื่น ๆ ไป