"กรณ์" เสนอแนวทาง “Vaccine Economy” กุญแจโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ จี้รัฐปรับระบบราชการให้ทันยุคโลกเปลี่ยน "โจ แอร์เอเชีย" หวั่น “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” แป้ก หากรัฐไม่ชัดเจนด้านนโยบาย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรรกล้า และนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวในคลับเฮาส์แลกเปลี่ยนความเห็นกันถึงมาตรการเปิดประเทศภายหลังจากที่ประขาชนทยอยได้รับวัคซีน โดยทั้งสองมีความกังวลถึงนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนของรัฐบาล อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเปิดเมืองโดยนำร่องที่ จ.ภูเก็ตในวันที่  1 กรกฎาคมนี้ ไม่ราบรื่น นายกรณ์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นหัวใจและโอกาสที่จะไปสู่การใช้ชีวิตปกติเพื่อเศรษฐกิจจะได้กลับมาอย่างเร็วที่สุด ดังนั้นจึงมีแรงกดดันเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชนเพื่อสามารถเปิดประเทศได้ภายในสิ้นปี โดยใช้ จ.ภูเก็ต เป็นตัวนำร่อง ซึ่งทางจังหวัดได้มีการรณรงค์ ฉีดวัคซีน มาตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อให้ครบ 70% ทันวันที่ 1 กรกฎาคม ตามข้อตกลงของรัฐบาล แต่ก็มีการเปลี่ยนเงื่อนไขการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างประเทศจาก 7 วัน เป็น 14 วัน ซึ่งต้องมีการเร่งทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ วันนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีจำนวนเพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาหรือไม่เพราะที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาและปิดตัวไปหลายราย ซึ่งต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการปรับวงเงินสินเชื่อของ พ.ร.บ.แบงค์ชาติ ที่มีเงื่อนไขยุ่งยากที่ทำให้ ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลในแง่แหล่งทุนไม่ใช่ปล่อยให้เขาดูแลตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อนำร่องที่ภูเก็ตไปแล้วจะไม่แป้ก ส่วนการจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ คงต้องรออีกพักใหญ่ เพราะกว่าประชาชนจะรับวัคซีนครบ 70% ตามเงื่อนไข ก็คงจะในราวสิ้นปี ถึงต้นปีหน้า ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน และต้องมาคิดกันว่าการเดินทางไปมาในประเทศ จะผ่อนปรนได้แค่ไหนว่าถ้าใครที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว สามารถเดินทางได้เป็นปกติแม้จะไปจากพื้นที่สีแดงก็ตาม  “ขณะนี้มีการอนุมัติ พรก.5 แสนล้านแล้ว รัฐบาลจึงต้องคิดให้ทะลุ เพราะสมการรอบนี้ต่างจากคราวที่แล้วที่เน้นการปูพรมเยียวยาประชาชน แต่ครั้งนี้ต้องใช้อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการอัดฉีดให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีสายป่าน ให้สามารถเดินต่อได้ นอกจากนี้ และสิ่งที่ท้าทายอีกอย่างคือ ประชาชนที่ลังเลการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้วด้วยซ้ำ ตรงนี้รัฐบาลต้องวางแผนว่าจะนำพากลุ่มคนเหล่านี้มาฉีดได้อย่างไร เพื่อให้พวกเขาคลายความกังวลและความกลัวกับการต้องฉีดวัคซีน ซึ่งในหลายประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน” นายกรณ์ กล่าว  หัวหน้าพรรคกล้า ได้เสนอแนวทาง “Vaccine Economy” โดยมองว่าเป็นโอกาสของคนไทยทุกคน ที่จะปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป เช่น ควรปรับเปลี่ยนประเภทนักท่องเที่ยว ให้อยู่นานขึ้น ให้เขาสามารถ Work from Thailand ได้ โดยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าออนไลน์ เพื่อจูงใจให้เขามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการทำงาน และควรมีโอกาสสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ  นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทาง Rainbow Economy ดึงกลุ่ม LGBTQ ซึ่งไม่มีภาระของบุตรซึ่งเป็นเด็กที่อาจยังไม่เข้าข่ายได้รับวัคซีน คนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เช่นเดียวกับกลุ่มที่จะพำนักยาวนานกว่านักท่องเที่ยวปกติคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้พวกเขามั่นใจถึงความปลอดภัยที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย "เราไม่อยากรอดไปวันๆ แต่ต้องการที่จะรอดอย่างยั่งยืนมากกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่ประเทศต้องปรับตัว โดยเฉพาะการระบบราชการที่ล้าหลังต้องปรับอย่างเร่งด่วน"    ขณะที่นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอ สายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า วันนี้แม้คนภูเก็ตจะพร้อม แต่ความชัดเจนในเรื่องของการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ยังไม่มี ทั้งรายชื่อสายการบิน โปโตคอลของผู้โดยสาร ตลอดจนนักบินและลูกเรือว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องกักตัว 14 วันหรือไม่ ถ้าต้องกักก็คงไม่มีใครอยากบินเข้ามา และเมื่อเขาเข้ามาเขาต้องมีอะไรบ้าง ใบตรวจ ใบฉีดวัคซีน และจะต้องมาเก็บตัวอย่างอีกหรือไม่ ถ้าต้องทำต้องไปที่ไหน ในส่วนของมาตรการเว้นระยะห่าง ผู้ประกอบการต้องทำอย่างไร ซึ่งรายละเอียดพวกนี้จะต้องเตรียการล่วงหน้า 60 วัน เพื่อการวางแผนขายตั๋วเพื่อให้ผู้โดยสารเต็มลำ มันส่งผลต่อการจองที่พัก อาหาร และการบริการต่าง ๆ เพราะหากมาน้อย ผู้ประกอบการก็จะแบกต้นทุนมหาศาลยิ่งเมื่อเปิดประเทศแล้วผู้โดยสารไม่มาเพิ่มจะทำอย่างไร  ทั้งนี้เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาแต่อยากให้เป็นก้อนนโยบายที่ชัดเจนไม่ปรับเปลี่ยนไปมาจนเกิดความสับสน และอยากให้ใช้ประสบการณ์ความล่าช้าในครั้งนี้เป็นแนวทางปรับปรุงเพื่อการวางแผนที่ดีขึ้นสำหรับการเปิดในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป นายธรรศพลฐ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้เชื่อว่าเงินเก็บของประชาชนลดน้อยลง บางคนอาจใช้บัตรเครดิตกันจนเต็มวงเงินไปแล้ว ดังนั้นแม้จะมีประกาศให้เดินทางได้ และออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวให้น่าสนใจแค่ไหนก็ตาม ก็เชื่อว่าคงจะไม่กระเตื้องมากนัก อาจจะใช้เวลาสองถึงสามปี กว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับคืนมา