มีรายงานว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดียซึ่งแพร่ระบาดไปกว่า 60 ประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อมีภาวะลิ่มเลือดซึ่งนำไปสู่เนื้อตายเน่า สูญเสียการได้ยิน รวมไปถึงปวดท้องอย่างรุนแรง จากการสันนิษฐานของแพทย์ในอินเดียระบุว่า อาการดังกล่าวเชื่อมโยงกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ขณะที่คเณช มณูเดน แพทย์ในเมืองมุมไบระบุว่าผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดจนเนื้อเยื่อได้รับผลกระทบและเกิดเนื้อตายเน่าในที่สุด โดยเมื่อปีที่แล้วเขาพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเพียง 3 ถึง 4 รายเท่านั้นแต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเกิดอาการเนื้อตายเน่าถึง 1 รายต่อสัปดาห์ พร้อมเผยว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาตนได้รักษาผู้ป่วย 8 รายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากอาการลิ่มเลือดอุดตันโดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 2 รายที่ต้องตัดนิ้วมือหรือนิ้วเท้า แพทย์เสริมว่าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาการเนื้อตายเน่าภายใน 24 ชั่วโมงอาจลดโอกาสในการรอดชีวิตถึง 50% เนื่องจากเป็นอาการที่รุนแรงและมีโอกาสกระทบทุกส่วนของร่างกาย อย่างไรก็ตามแพทย์ระบุว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไปเพื่อวิเคราะห์ว่าอาการที่พบเหล่านี้เชื่อมโยงกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจริงหรือไม่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ประกาศเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ให้เชื้อเดลตา ซึ่งก็คือชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ บี1617 ที่มีการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนในตำแหน่งสำคัญของโปรตีนหนาม ที่เชื้อโรคใช้เกาะติดกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ จัดเป็นสายพันธุ์น่ากังวล" ร่วมกับสายพันธุ์บี117 พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร บี11281 หรือพี1 พบครั้งแรกในบราซิล และบี1351 พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้