ดูเหมือนว่า “ความพยายาม” ของ “ฝ่ายไล่ลุงตู่” ที่รวมพลังกันเคลื่อนไหวอยู่รอบนอกในนาม “ไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” อาจยังไม่มากพอ ที่จะสร้างน้ำหนัก เพิ่มแรงกดดัน จนทำให้ “เก้าอี้” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอันต้องสั่นสะเทือน มิหนำซ้ำยังกลายเป็นว่า เกมไล่ลุง รอบนิ้ไม่มี “ตัวหลัก” ลงมาเล่น ให้เกิดความฮึกเหิม ! จึงส่งผลทำให้บรรยากาศ เดิน “หมากล้อม” พล.อ.ประยุทธ์ ที่นอกสภาฯ จึงจืดชืด ไร้สีสันอย่างที่เห็น ! เมื่อ “จำเลย” ของกลุ่มไทยไม่ทนฯ อย่างบิ๊กตู่ไม่มีปฏิกริยา สนองตอบทางใดทางหนึ่ง แสดงอาการให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับรู้ว่า รู้สึกอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันยังกลับ “เมินเฉย” ไม่ส่งแม้ “ไพร่พล” ออกมาตอบโต้ ปล่อยให้ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานนปช.ซึ่งออกตัวขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ก่อนวันสงกรานต์ ได้เล่นในบทถนัด ไปตามเกม การเดินสาย ใช้วิธีกดดันทั้ง ซึ่งหน้าด้วยการบุกมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อประกาศว่า “ไม่เอาบิ๊กตู่” หรือการใช้กลยุทธ์ แยกปลาออกจากน้ำ เดินสายไปยัง พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ “ถอนตัว” จากการร่วมรัฐบาล ทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นแค่ “อีเว้นท์การเมือง” อย่างไรก็ดี จากความเคลื่อนไหวจากกลุ่มไทยไม่ทนฯ ที่ขยับตัวกันมาตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์ อาศัยโหนกระแสในประเด็นที่ “พรรคฝ่ายค้าน” ในสภาฯเปิดฉากโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไร้พลังขยับเก้าอี้นายกฯได้นั้น แน่นอนว่า ลึกๆแล้วผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในกลุ่มนี้ ก็รู้ดีว่า แท้จริงแล้วเกมไล่ลุงของพวกเขาจะเดินไปได้แค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าแกนนำหลายคนที่โดดเข้ามาร่วมวง “ไล่ลุง” ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักเคลื่อนไหวกันมาแล้ว ต่างกรรม ต่างวาระกันมาในเหตุการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้น่าสนใจว่า แม้กลุ่มการเมืองฯ กลุ่มดังกล่าวนี้ ได้เคยพุ่งเป้าโจมตีไปที่ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. ว่าเขาคือคนที่มีส่วนทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายทั้งจากการจัดชุมนุมใหญ่ ปิดเมือง สร้างประวัติศาสตร์การชุมนุม จนนำมาสู่การเปิดประตูให้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช. ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อเกิดเป็นรัฐบาลคสช.ยืดเยื้อมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งกุมอำนาจมายาวกว่า 7 ปี แต่ดูเหมือนว่า เสียงโจมตีจากนักเคลื่อนไหวที่รวมตัวกันของบรรดาอดีตแกนนำเสื้อสารพัดสี ครั้งนี้กลับไม่ได้ทำให้ ลุงกำนัน สะดุ้งสะเทือนแต่อย่างใด ! ในทางตรงกันข้าม กลับมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ นั่นคือเมื่อการเมืองของพรรคขนาดเล็ก อย่าง “รวมพลังประชาชาติไทย” หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล แทบไม่ขยับ หรือแม้แต่มีลูกพรรคออกมาตอบโต้ประเด็นทางการเมืองก็ตาม แต่พบว่า การทำงานของ “รัฐมนตรีว่าการฯ” อย่าง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ในฐานะเจ้ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กลับโดดเด่น แตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่ พรรคเคยส่ง “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล สมัยที่เคยนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อย่างชัดเจน การเข้ามานั่งในกระทรวงอว.ของเอนก ได้รับความเห็นชอบจากลุงกำนัน อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่จำเป็นที่จะไปแก่งแย่งกระทรวงหลักๆ ขณะที่คนในพรรคพลังประชารัฐ พยายามจับจองด้วยซ้ำ แม้การเข้ามานั่งในกระทรวงอว. ของเอนก ก่อนหน้านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องแนวคิด ไปจนถึงการถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเข้ามาเพื่อ “จัดการ” กับ “นักวิชาการ” ที่มีความเห็นต่อต้าน และดูหมิ่นสถาบัน ไปจนถึงการยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล จนทำให้เอนก ถึงกับโดนนักวิชาการถล่มมาแล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่การวางบทบาทของพรรครวมพลังประชาติไทย ที่มี ลุงกำนัน ยืนกำกับบทอยู่เบื้องหลังมากกว่าว่า ทางหนึ่ง เลือกที่ โลว์โปรไฟล์ ทางการเมือง จะด้วยเพราะยังติดอยู่ในการต่อสู้คดีการชุมนุมของกปปส.ในอดีตก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่าแม้พรรคจะมีโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเพียง 1ที่นั่ง แต่กลับมีความมั่นคง และมั่นใจได้ว่า จะไม่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ “สั่งยึด” อย่างแน่นอน จะด้วย “สัญญาใจ” ที่มีต่อกัน หรือจะเป็นเพราะ ฝ่าย “3ป.”ประเมินแล้วว่าการมีขั้วลุงกำนันเอาไว้ข้างตัว ย่อมเป็นการตัดกำลัง การเคลื่อนไหวบนท้องถนน ดังนั้นจึงส่งผลทำให้ การออกมาขยับของกลุ่มการเมืองฯ สารพัดสีที่ประกาศตัวไล่พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเรียกร้อง “นายกฯคนนอก” จึงดำเนินไปด้วยอาการไร้พลังอย่างที่เห็น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย อาจกลายเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ “ 3ป.” จะเลือกให้เดินไปด้วยกันในวันหน้า เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง เช่นเดียวกับ “พรรคไทยภักดี” ของ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ผู้ก่อตั้งพรรค ที่กำลังแต่งตัวรอ ร่วมขบวนรถไฟสาย “ประยุทธ์ 4” ก็ต้องถือเป็นพรรคเล็กที่ไม่อาจละสายตา การรวมตัวกันของแนวร่วมเพื่อหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในรอบหน้าเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง ไม่ควรประมาทพรรคการเมืองใดๆทั้งสิ้น เพราะอย่าลืมว่าถึงอย่างไร “นักเลือกตั้ง” จะยังต้องใช้ “กติกาเดิม” จากรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ดี !