แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่ได้พูดตรงๆ หรือส่งสัญญาณชัดๆว่า จะมีการยุบสภาเมื่อใด
แต่คำพูดที่ว่า รัฐบาลปัจจุบันเหลือเวลาอีก 1 ปีที่เหลืออยู่ ต้องเร่งให้ คณะรัฐมนตรีทำงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่วางไว้ให้เสร็จสิ้น
แต่ก็ทำให้ถูกตีความว่าการยุบสภาและการเลือกตั้งใกล้เข้ามาในปีหน้า 2565
เพราะปีนี้หมดไปกับการต่อสู้กับโควิด และ ต้องรอจนกว่าพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 จะผ่านสภา และมีผลให้ใช้จ่ายงบประมาณได้ ตั้งแต่ตุลาคมนี้ รวมถึงต้องจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ และนายกเมืองพัทยาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องรอจังหวะที่เหมาะสมและได้เปรียบ ก่อนที่จะประกาศยุบสภา ที่คาดกันว่าจะเป็นปีหน้า รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไป
ปี่กลองการเมือง การเลือกตั้ง จึงเริ่มเข้มข้นขึ้น สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเคลื่อนไหวที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากที่เลื่อนการประชุมมาตั้งแต่เดือนเมษายนเพราะสถานการณ์โควิด
โดยมีรายงานข่าวว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ราว 19 หรือ 20 มิถุนายนนี้ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีกำหนดการ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อติดตามงานของรัฐบาลรวมทั้งจะมีการประชุมพรรคด้วย
แต่ก็น่าแปลกที่ อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค กลับไม่รู้ว่าจะมีการประชุมนี้เกิดขึ้น เพราะ พล.อ.ประวิตร ยังไม่ได้แจ้งอะไรกับลูกพรรค หรือแม้แต่ตนเอง
จนเป็นที่มาของการเกิดกระแสข่าวว่าจะมีปฏิบัติการหักดิบ ยึดเก้าอี้เลขาธิการพรรคที่ อนุชา นั่งอยู่ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รองหัวหน้าพรรค นั่งแทน
ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้งในปีหน้าเสียแต่เนิ่นๆ เพราะเป้าหมายของ พล.อ.ประวิตร คือพรรคพลังประชารัฐ จะต้องได้จำนวนสส.เข้าสภาในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ให้มากที่สุดมากกว่าพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะเป็นการนำในการจัดตั้งรัฐบาล และพาพล.อ.ประยุทธ์ กลับสู่ทำเนียบรัฐบาล บ้านนรสิงห์ เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่ต้นและถูกมองว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ คนคุมสวนกล้วย คุมทุน และผู้คุมพรรคเล็ก รวมทั้งประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล
เป็นเสมือนตัวแทนของ พล.อ.ประวิตรในการปฏิบัติการแก้ปัญหาต่างๆภายในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอดจนได้รับการขนานนามว่าเป็นลูกรัก และเป็นมือขวาของพล.อ.ประวิตร เลยทีเดียว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ พล.อ.ประวิตร จะหนุน ร.อ.ธรรมนัส ให้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคเลย เพราะที่ผ่านมาสั่งอะไรผู้กองธรรมนัสก็ทำให้ได้หมดโดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัดที่ผ่านมา
อีกทั้งกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ถือว่าเป็นกำลังหลักข้างกาย พล.อ.ประวิตรเพราะมีทั้ง วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเหรัญญิกพรรคซึ่ง ยังได้เป็น รองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณ อีกด้วย
กล่าวกันในพรรคพลังประชารัฐว่า ถ้าเป็นงานสายบู๊ พล.อ.ประวิตร จะใช้งาน ร.อ.ธรรมนัส ที่ถือเป็นรุ่นน้องเตรียมทหาร ที่มีความพร้อมทั้งในแง่ฐานะทุนสายสัมพันธ์และผู้คนในมือด้วยเพราะเคยเป็นนายทหารที่เดินมาบนถนนสีเทา เป็นเสมือนขุนศึกนักรบ
แต่ถ้าเป็นงานสายบุ๋น ในเรื่องของการวางแผน การคิดและความละเอียดรอบคอบต่างๆ พล.อ.ประวิตร จะใช้งาน ดร.นฤมล ที่เปรียบเสมือนเป็น ขุนพลหญิงของพล.อ.ประวิตร เลยก็ว่าได้
เพราะมีข่าวว่าพล.อ.ประวิตร สั่งการให้ดร.นฤมล เตรียมการเรื่องการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะเป็นตัวแทนจากทุกกลุ่มทุกพวกแต่จะมี ร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค
รวมถึงการเตรียมสำรวจพื้นที่เช็คฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐว่าพื้นที่ใดเป็นจุดแข็งหรือเป็นจุดอ่อน เพื่อเตรียมส่งให้ ร.อ.ธรรมนัส ไปแก้ปัญหา และเสริมความแข็งแกร่งในแต่ละพื้นที่
จนมีข่าวสะพัดว่าในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ดร.นฤมล จะไม่ใช่เป็นแค่เพียงเหรัญญิกพรรคเท่านั้น แต่จะเป็นรองหัวหน้าพรรคหญิงด้วย และ จะเป็น รมว.ในอนาคต ซึ่งสะท้อนว่าเป็นคนที่ พล.อ.ประวิตรไว้วางใจอย่างยิ่ง
เพราะการศึกเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญที่ พล.อ.ประวิตร จะต้องชนะศึกได้จำนวนส.ส.ให้มากที่สุด เพื่อทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย ได้อย่างสง่างามโดยไม่ต้องให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนโหวตเลือกนายกฯ เลยก็ว่าได้ หากว่าสามารถ ดูด ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยพรรคฝ่ายค้านหรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลมาอยู่ด้วยให้ได้มากที่สุด
ถึงขั้นที่มีเสียงคุยในพรรคพลังประชารัฐว่าครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส จะดึง และ ดูดส.ส. ในพรรคเพื่อไทย มาได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย เคยอยู่ฝั่งพรรคเพื่อไทย แถมทั้งยังมีทุนทางการเมืองมหาศาลพร้อมที่จะดูแลส.ส.ที่จะเข้ามาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
เพราะตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เรื่อยมา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ก็ต้องสู้ชีวิตด้วยตนเอง ได้รับการสนับสนุนจากพรรคน้อยลงๆ จนหลายคนต้องควักกระเป๋าตัวเองต้องควักเนื้อ
ด้วยเหตุที่พรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้บารมีนอกพรรค อย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จากกำหนดทิศทางพรรคนี้ต่อไปอย่างไรในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
เพราะหากยังปล่อยให้พรรคเป็นไปตามยถากรรมแบบนี้โอกาสที่จะถูกดูด ถูกดึงส.ส.ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีสูงขึ้น
แม้จะมีกระแสข่าวออกมาว่า “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ เข้ามาดูแลพรรคเพื่อไทยด้วยตนเอง และ มี “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล มาช่วยอีกแรง เพื่อที่จะดูแลส.ส. และ ดูแลพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าและป้องกันการถูกดูด ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม
เพราะในห้วง 2 ปีของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีการเลี้ยงส.ส.งูเห่าไว้ในพรรคฝ่ายค้านหลายคน ทั้งที่เปิดเผยตัวจากการโหวตลงมติต่างๆช่วยฝั่งรัฐบาล แล้วก็ยังมีที่ไม่เปิดเผยตัวอีกจำนวนไม่น้อย
เหล่านี้จึงน่าจะทำให้ค่าตัวค่าหัวของสส.พรรคเพื่อไทย และพรรคฝ่ายค้านสูงขึ้น หากพรรคพลังประชารัฐโดย ร.อ.ธรรมนัส หรือ พล.อ.ประวิตร คิดจะดูดให้ย้ายพรรคก็คงต้องลงทุนสูง
แต่ไม่ว่าอย่างไร พรรคพลังประชารัฐก็มีกระสุนเพียงพอที่จะสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อที่จะชิงการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ที่ต้องรอดูว่าอดีตนายกฯทักษิณ จะสู้เต็มที่หรือไม่ เพราะย่อมต้องใช้ทุนรอนมหาศาลเช่นกัน
เพราะหากพรรคเพื่อไทยชนะ ก็ใช่ว่าจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกันเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
เพราะฝ่ายพรรคพลังประชารัฐก็จะชิงจับขั้วกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลและมี 250 ส.ว. พร้อมที่จะหนุนพล.อ.ประยุทธ์กลับมา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
หากพิจารณาในประเด็นนี้ ทักษิณอาจจะมองว่าไม่คุ้มค่า เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ตราบใดที่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และตราบใดที่ยังมีบทเฉพาะกาล 5 ปีให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกฯอยู่เช่นนี้
โอกาสจึงเป็นของพรรคพลังประชารัฐที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นขุนพลคนสำคัญในการที่จะบุกเข้าตีและยึดพลพรรคของพรรคเพื่อไทยกลับมาเข้าค่าย 3 ป. พลังประชารัฐ
แต่ที่ไม่อาจมองข้ามคือ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐเองจะย้ายวง แยกตัวถอนตัวออกไปหรือไม่ เช่น กลุ่มสามมิตร หากอนุชา หลุดเก้าอี้เลขาธิการพรรค และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ถูกส่งชื่อเข้าชิง ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะก็มีข่าวออกมาแล้วว่าสมศักดิ์เตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่
ไม่แค่นั้นกลุ่มส.ส.ดาวฤกษ์ของ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ก็มีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐจากปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมาร่วมพรรคของ 4 ยอดกูมารที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแกนนำ ร่วมกับ อุตตม สาวนายน ส่วน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่มีข่าวว่าอาจจะแยกตัวมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์
แม้จะยังไม่มีวี่แววของการยุบสภา แต่การเมืองก็เข้มข้น และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งกันแล้ว พร้อมๆค่าตัวส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่พุ่งสูงขึ้นด้วย
แต่เดิมพันของฝ่าย พล.อ.ประวิตร และ พรรคพลังประชารัฐครั้งนี้สูงลิ่ว เพราะจะต้องชนะ เท่านั้น เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัยหนึ่งให้ได้ไม่ว่าจะต้องหมดเท่าไหร่ หรือจะต้องต่อรองในทางการเมืองอย่างไรก็ตาม