GIT พลิกโฉมห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาระบบ AI มาใช้ระบุแหล่งที่มาของพลอย หนุนอุตสาหกรรมอัญมณีไทย เพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ประสบความสำเร็จในการวิจัยเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณี เพิ่มความแม่นยำ เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้มีผู้บริโภค รวมทั้งแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่างหันมาให้ความสนใจในเรื่องของแหล่งที่มาของอัญมณีอย่างมาก นอกจากนี้ การระบุแหล่งที่มาของอัญมณียังส่งผลต่อมูลค่าทางการค้าของอัญมณีอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีความสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีเป็นอย่างมาก GIT ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาและวิจัย และจัดทำข้อมูลอัจฉริยะแหล่งกำเนิดของอัญมณีต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาระบบการตรวจสอบแหล่งกำเนิดพลอยสีที่มีผลต่อการสอบกลับของแหล่งกำเนิดอัญมณีนั้นๆ และสนองต่อมาตรการป้องกันการละเมิดและความรับผิดขอบของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีโลก โดยปีแรกได้จัดทำฐานข้อมูลอัจฉริยะของทับทิม ซึ่งเป็นพลอยเนื้อแข็งที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด โดยสถาบันได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลในการแยกแหล่งกำเนิดต่างๆทางภูมิศาสตร์ จากธาตุองค์ประกอบ และนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประมวลผลหาแหล่งกำเนิดของอัญมณี ซึ่งมีความถูกต้อง และแม่นยำ มากถึงร้อยละ 90 โดยในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อนำไปใช้จริง รวมถึงสถาบันมีแผนที่จะพัฒนาระบบการใช้ AI เพื่อช่วยในการหาแหล่งกำเนิดอัญมณีชนิดอื่น เช่น ไพลิน และมรกต ที่มีความสำคัญในตลาดต่อไป ทั้งนี้ สถาบัน เชื่อมั่นว่า การนำเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะมาใช้ประกอบการตรวจสอบและประเมินผลการระบุแหล่งกำเนิดของอัญมณีครั้งนี้ จะสามารถส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นการตอกย้ำมาตรฐานระดับสูงของห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ GIT ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นายสุเมธ กล่าวปิดท้าย