ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “รากฐานแห่งความรู้สึกนึกคิดที่ก่อเกิดเป็นปัญญาญาณ ต่อการพินิจพิเคราะห์ชีวิตเกิดจากประสบการณ์แห่งการไถ่ถามอันสมบูรณ์ระหว่างสมองกับหัว ใจ ระหว่างความรู้สึกนึกคิดกับภาวะอารมณ์ ...นั่นคือวิถีแห่งการรับรู้และเรียนรู้อันสมบูรณ์ที่ได้กลายเป็น คุณค่าแห่งศรัทธาอันแรงกล้าในที่สุด” นี่คือบริบทแห่งศรัทธาของการตีความ ที่ได้รับจากหนังสือเล่มเล็ก แต่เปี่ยมเต็มไปด้วยแง่มุมแห่งการตีความในการใช้ความคิดของหนังสือที่งดงามแห่งใจเล่มหนึ่ง ที่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจอันเอกอุต่อการแสวงหาด้านใน และการสร้างสรรค์อันแท้จริง... “จดหมายถึงกวีหนุ่ม”(LETTERS TO A YOUNG POET)...รวมจดหมาย 10 ฉบับที่ “ไรเนอร์ มารีอา ริลเค”(1875-1926) กวี และ นักเขียนชื่อดังชาว “โบฮีเมีย-ออสเตรีย”เมื่อวัย 27 ปีได้เขียนตอบกวีหนุ่มนาม “ฟรานซ์ ชาเวอร์ คัพพุส” ในวัย 19 ปี...ผู้ส่งบทกวีของตนมาขอความเห็น...อันนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่งอกงามและมีค่ายิ่งในเวลาต่อมา...เป็นมิตรภาพที่น่าจดจำและยิ่งใหญ่นิรันดร /การเขียนจดหมายเล่าสู่กันฟังในเรื่องอันหลากหลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปะซึ่งถือเป็นสิ่งเร้นลับที่ดำรงคงอยู่มายืนยาว เมื่อเทียบกับชีวิตเล็กๆ ที่ดำรงอยู่อย่างชั่วคราวในชีวิตของเรา/ หรือจะเป็นงานเขียนที่เขียนถามถึงตัวเองในยามดึกสงัดของค่ำคืนที่ถามถึงว่า... “ฉันต้องเขียน...ฉันจะต้องเขียนหรือไม่”/ กระทั่งภาวะแห่งการรักหนังสือ อันได้รับจากการเรียนรู้หนังสือที่คอยถามย้ำอยู่โดยตลอดว่า...ผู้เรียนจะรู้สึกคุ้มค่ากับการเรียนรู้นั้นหรือไม่/แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันทำให้ผู้เรียนรู้นั้นต้องเกิดใจและมีใจที่จะรักหนังสือในโอกาสต่อๆไป/...ไล่เรียงไปถึงการวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นแนวคิดอันแจ้งชัดที่ตอกย้ำว่า..ได้โปรดอ่านงานวิจารณ์หนังสือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้.แต่จงโปรด อ่านหนังสือให้เยอะ อ่านให้เพลินเพื่อการเจริญสติปัญญา “ไม่มีใครแนะนำหรือช่วยเธอได้...ไม่มี...มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ...การก้าวเข้าสู่ตัวเอง” หลังจากริลเคเสียชีวิต คัพพุส ได้รวบรวมจดหมายจำนวน 10 ฉบับที่ริลเคเขียนตอบเขาในมิติเรื่องราวอันหลากหลาย..ไม่ว่าจะเป็น ความรัก แรงบันดาลใจ ความโดดเดี่ยว รวมทั้งชีวิต...มันคือสาระสำคัญที่อยู่เหนือขึ้นไปจากคำแนะนำเกี่ยวกับศิลปะการประพันธ์อันงดงามใดๆ “การเป็นศิลปินมิได้หมายถึงการนับและคิดคำนวณผลตอบแทน แต่ทว่างอกงามเช่นต้นไม้ ซึ่งไม่เคยบังคับเคี่ยวเข็ญน้ำเลี้ยงของตัวเอง และยืนหยัดมั่นคงอยู่ในพายุของฤดูใบไม้ผลิ โดยไม่หวาดหวั่นว่าหลังจากนั้นฤดูร้อนจะมาถึงหรือเปล่า ฤดูร้อนจะมาถึง แต่จะมาถึงเฉพาะผู้ที่อดทนราวกับมีความเป็นนิรันดรทอดอยู่เบื้องหน้า สงบ และเปิดกว้างโดยไม่พะว้าพะวง” เหตุนี้ ..จดหมายทั้ง 10 ฉบับนั้นจึงเปรียบดั่งเป็นการส่งสารจากผู้แสวงหาถึงผู้แสวงหา จากใจถึงใจ ที่เปี่ยมไปด้วย แรงบันดาลใจอันลึกซึ้ง..ข้อสงสัยของ “กวีหนุ่ม”คัพพุส เป็นคำกล่าวที่บอกกล่าวถึงข้อแนะนำด้านการเขียน ว่าทำอย่างไรถึงจะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในตัวออกมาเป็นถ้อยคำแห่งความ..ทุกข์ยากนั้นอัน คู่ควรที่จะอยู่เคียงข้างกับความยิ่งยงของกวี... “ขอให้เธอรักหนังสือ ความรักนี้จะตอบแทนเธอเป็นพันๆเท่า ไม่ว่าเธอจะหันเหชีวิตไปทางไหนก็ตาม มันจะเป็นเส้นใยในการถักทอผืนผ้าแห่งการเติบโตของเธอ เป็นเส้นใยแห่งประสบการณ์ ความผิดหวังและความรื่นรมย์ในชีวิตของเธอ” “ริลเค” ได้ตั้งประเด็นถามต่อ คัพพุสอย่างลึกซึ้งและเจาะลึกว่า...จดหมายของเขาช่วยคัพพุสได้จริงๆหรือเปล่า..เขาเองก็สงสัยอยู่ว่ามันจะช่วยได้หรือไม่ได้ ในบริบทที่ว่าแท้จริงการเขียนก็เป็นเรื่องยากสำหรับเขา ..ทั้งนี้เพราะเขาต้องเขียนจดหมายหลากหลายฉบับจนเมื่อยมือ... “อย่าบอกนะว่าใช่..มันช่วยได้มากทีเดียว”...ขอเพียงแต่เธอรับมันอย่างสงบก็พอ และมิต้องขอบอกขอบใจอะไรมากนัก แล้วมาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น... อาจจะไม่มีประโยชน์ที่ฉันจะเข้าไปสู่ปัญหาของเธอในตอนนี้ เพราะสิ่งฉันพูดได้เกี่ยวกับความสงสัยใคร่รู้ของเธอ หรือการที่เธอไม่สามารถนำชีวิตด้านนอกด้านในมารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆนานัปการที่กำลังกดดันเธออยู่ ...ฉันได้พูดไปแล้ว เพียงแต่หวังว่าเธอคงมีความอดทนพอที่จะแบกรับและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนพอที่จะมีศรัทธาในตัวเอง” ศรัทธาที่ริลเค ย้ำนักย้ำหนาต่อการตอบจดหมายของคัพพุส..คือความมั่นคงแห่งตัวตนของใจที่จะเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว..การย้ำเน้นผ่านความคิดของการกลับสู่ตัวเอง...ถูกเน้นย้ำว่ามันคือกุญแจที่ไขเข้าสู่ความเป็นชีวิต...สู่การมีชีวิตอย่างมีความหมาย ความทุกข์ยากทั้งปวง จริงๆแล้ว ก็ถูกเปรียบเป็นดั่งผืนแผ่นดินอันอุดม ซึ่งเมล็ดพันธุ์อิงอาศัยเพื่อการงอกงามเติบโต และความโดดเดี่ยวนี้ควรควบคู่ไปกับความอดทน...ผู้อดทนอย่างถึงที่สุดเท่านั้นที่สามารถจะเก็บเกี่ยวความหอมหวานความใฝ่ฝันหรืออุดมคติของตนเองได้.. “....แต่สิ่งที่คนหมู่มากอาจจะได้รับในวันหนึ่งข้างหน้า ผู้สันโดษนั้นได้ตระหนักและสร้างมันขึ้นด้วยมือของเขาเอง ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว และยังก่อความผิดพลาดได้น้อยกว่าอีกด้วย เมื่อเป็นเข่นนี้ จึงขอให้เธอรักความโดดเดี่ยวและพยายามขับขานมันออกมาด้วยความเจ็บปวดที่เธอได้รับจากความโดดเดี่ยวนี้..เพราะคนเคียงข้างเธอเหล่านั้นอยู่ห่างไกล ซึ่งก็แสดงว่าที่ว่างรอบๆตัวเธอกำลังเริ่มแผ่กว้างออกไป ถ้าสิ่งที่อยู่เคียงข้างเธออยู่ห่างไกลแล้ว ความกว้างใหญ่ในตัวเธอก็อยู่ท่ามกลางหมู่ดาวและยิ่งใหญ่นัก” ริลเค...ได้แสดงถึงเจตจำนงสำคัญต่อการหาความหมายให้กับสถานะของกวี..ว่ามันควรจะอยู่ในความหมายหรือตกอยู่ในนิยามใด..นั่นคือความละเอียดอ่อนในห้วงสำนึกที่เขามีต่อบุคคลผู้อ่อนเยาว์แต่มีความฝันใฝ่ตรงเบื้องหน้า... “เธอนิยามคำว่ากวี ณ เบื้องหน้าของเธอว่ากระไร?” หากกวีในนิยามของเธอคือถ้อยคำที่มิต้องเปล่งเสียงออกจากปากใด ทั้งจากใครสักคนหรือ ผู้คนที่ผ่านทาง... แต่กวีในความหมายแห่งนิยามนั้นของเธอ คือเสียงลมหายใจและการดำรงอยู่ คือละอองลมและหยดน้ำตา คือหยาดน้ำค้างที่เกาะเกี่ยวค้างกิ่งในยามเช้า คือแสงดาวบนลานกว้างอันแสนสามัญ และคือแสงแดดจรดจนจางของแสงจันทร์ใต้ราตรี...หากเธอเชื่อเช่นนั้น..ทั้งหมดนี้ย่อมคือความสามัญเช่นกัน... ในที่สุด..ริลเคก็ได้ย้ำกับคัพพุสและเหมือนกับทุกคนให้ได้ตระหนัก ถึงการคิดถึงโลกที่มีอยู่ในตัวเอง โดยจะเรียกความคิดอย่างนี้อย่างไรก็ได้..ก็ตามแต่ใจจะเรียกว่าเป็นการระลึกถึงวัยเด็กของเธอเอง หรือเป็นความปรารถนาในอนาคตของเธอเองก็ตาม ขอเพียงแต่ให้ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเธอ และวางสิ่งนั้นไว้เหนือทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมองเห็นอยู่รอบๆตัวเอง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตัวตนข้างในของเธอนั้นมันคุ้มค่ากับการที่เธอทุ่มเทความรักให้ทั้งหมด... อย่างไรก็ตาม.. “เธอต้องหาทางสร้างทำด้วยสิ่งนั้นให้ได้ และอย่าเสียเวลาหรือความกล้ามากเกินไปในการแสดงท่าทีต่อผู้คน..” การเปรียบเทียบอาชีพทหารกับการทำงานศิลปะของริลเค..ถือเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งต่อการสร้างรากฐานแห่งวิถีชีวิตในนาม “ศิลปิน” ที่จะก้าวไกลไปสู่โลกกว้างของทั้งความจริงและความฝันอันอเนกอนันต์...บทสรุปตรงส่วนนี้ถือเป็นความหมายอันสมบูรณ์ต่อการก่อเกิดและหลอมรวมการบ่มเพาะชีวิตของทั้งศิลปินและศิลปะเข้าด้วยกันอย่างดิ่งลึกและเป็นเนื้อเดียวกัน... “ผู้ยึดถือความจริงจังและความจำเป็น และแฝงความหมายในการตั้งมั่นเตรียมพร้อม เหนือและไกลจากความเหลาะแหละ และเป็นเพียงการผ่านเวลาของอาชีพทหาร และไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้เชื่อมั่นในตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้บ่มเพาะความเชื่อมั่นอีกด้วย การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งบางครั้งก็วางเราไว้เบื้องหน้าสรรพสิ่งตามธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เพียงเท่านี้แหละที่เราต้องการ” นั่นก็เท่ากับว่า ศิลปะก็เป็นเช่นกัน เป็นเพียงวิถีของการดำเนินชีวิต และไม่ว่าเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร เราก็สามารถตระเตรียมเพื่อศิลปะได้ โดยไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ เมื่อเราสัมผัสทุกสิ่งที่จริงแท้ เราก็จะเข้าถึงศิลปะยิ่งขึ้น อยู่ใกล้ชิดกับศิลปะมากกว่าผู้ประกอบการอาชีพกึ่งศิลปะ ซึ่งมิใช่ของแท้ แต่กลับแสร้งว่าอยู่ใกล้ชิดกับศิลปะ “ด้วยความโดดเดี่ยวและเด็ดเดี่ยว ขอให้เธอเอาชนะพิษภัยของการเข้าสู่อาชีพ และสามารถดำรงอยู่ ณ ที่ไหนสักแห่งของความเป็นจริงอันยากลำบากนั้น” จดหมายถึงกวีหนุ่ม(LETTERS TO A YOUNG POET)...เริ่มต้นทั้งหมดมาด้วยการพูดถึงคุณค่าของความโดดเดี่ยวในฐานะที่เป็นทั้งภาระและของขวัญ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสรรค์งานทั้งหมด ริลเคทั้งรักและกลัวความโดดเดี่ยว บ่อยครั้งที่เขาแทบจะหนีไปจากความโดดเดี่ยวนี้ แต่ความโดดเดี่ยวก็เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นในการสร้างสรรค์งานของเขา... “ไกรวรรณ สีดาฟอง” นักแปลฝีมือเยี่ยม ผู้แปลและถ่ายทอดความคิดของหนังสือแต่ละเล่มเรื่องราวแต่ละเรื่องราวออกมา ได้อย่างลึกซึ้ง หนักแน่น และจริงใจ ...เขาแปลหนังสือเล่มนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อย่างตั้งใจ ละเอียดอ่อน และมีเป้าหมายต่อหนุ่มสาว ผู้มีความใฝ่ฝันที่มักจะวิตกกังวลเสมอเกี่ยวกับการสร้างสรรค์และความรัก ...ให้กับเหล่าคนหนุ่มที่ใฝ่ฝันจะเป็นศิลปิน เพื่อให้ได้มองเห็นประสบการณ์ชีวิตอันยิ่งใหญ่และลึกซึ้งยิ่งขึ้น... นี่คือ...หนังสือแห่งชีวิตหนึ่งที่งดงามต่อใจอันพิสุทธิ์พิศาล สำหรับผู้มีแรงปรารถนาและฝันใฝ่ที่จะเป็นศิลปินในทุกๆองคาพยพ การเรียนรู้และเข้าใจถึง”ภาวะกวี”ที่ได้กล่าวอ้างถึงมาทั้งหมดเปรียบดั่งหมุดหมายอันทายท้าของความมีความเป็น....ดั่งนั้น กวีในฐานะผู้สร้างเจตจำนงอันบริสุทธิ์ของชีวิตย่อมตระหนักต่อการเรียนรู้เสมอๆในทุกๆห้วงขณะ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือสุข ไม่ว่าจะเป็นความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย หรือจะด้วยความทายท้าต่อความโดดเดี่ยวอ้างว้าง...นิรันดร “..แม้จะเป็นผู้ที่ไร้ค่าที่สุด..แต่บางทีความโดดเดี่ยวอาจงอกงามขึ้น...ความงอกงามของมัน เจ็บปวดเหมือนกับการเติบโตของเด็กและเศร้าเหมือนกับการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ...จริงๆแล้วสิ่งสำคัญคือความโดดเดี่ยวเท่านั้น..ความโดดเดี่ยวข้างในอันกว้างใหญ่..เหตุนี้ ขอจงดุ่มเดินอยู่ภายในตัวเองและอย่าพบปะกับใครหลายๆชั่วโมง ...นั่นคือสิ่งที่เธอต้องทำให้ได้”