“เชาว์” ยกคำพูด “บิ๊กตู่” กระตุก “สิระ” เตือนใช้กมธ.เปลี่ยนรูปคดี "ลุงพล" หวั่นซ้ำรอยคดีบอส อยู่วิทยา ทำสะเทือนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ – กระบวนการยุติธรรม ห่วง กมธ.แทรกแซงคดี ทำระบบถ่วงดุลเสียหาย ส่อผิดม.157
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “คดีลุงพล” อย่าซ้ำรอย “คดีบอส” ใช้ฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปคดี มีเนื้อหาระบุว่า ผมไม่แปลกใจที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตำหนิกลางสภากรณีมีการเอาผู้ต้องหามาแถลงสู้คดีอยู่ใต้ถุนสภา พร้อมตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นมุมเดียวกับที่ผมเป็นห่วง เป็นเรื่องที่นายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต้องเร่งทบทวน เพราะการใช้อาคารรัฐสภาเป็นเวทีให้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ พร้อมด้วยนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ และนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ภรรยา แถลงข่าวในการสู้คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เรื่องในทางคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรไปก้าวล่วง ไม่เช่นนั้น ระบบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยจะเสียไป
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการฯระบุชัดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 90 (1) กำหนดว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ทีเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
“จึงมีคำถามว่าเรื่องคดีลุงพลเข้าข่ายตามกรอบอำนาจหน้าที่นี้หรือไม่ เมื่อไม่เข้า จะดึงดันเดินหน้าไปเพื่ออะไร มีแต่ผลเสีย ไม่มีผลดีใด ๆ เลย ถ้ายังมองภาพไม่ชัด ผมแนะให้ถอดบทเรียนคดีบอส อยู่วิทยา ที่ใช้ กมธ.กฎหมาย ยุคสนช.เป็นเครื่องมือ เปลี่ยนรูปคดีจนนำไปสู่ข้อกล่าวหาสมคบคิดเปลี่ยนสำนวน สะเทือนทั้งวงการนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมาแล้ว อย่าให้ซ้ำรอยอีกเลยครับ เพราะกรรมาธิการฯของสภา ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบทางคดีให้กับใครทั้งสิ้น รวมทั้งไม่มีอำนาจที่จะไปชี้ผิดชี้ถูกให้กับใครในคดีที่อยู่ในอำนาจสืบสวนสวบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งจะแทรกแซงไม่ได้ และการออกหมายจับก็เป็นดุลยพินิจของศาลที่พิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตามคำร้องขอออกหมายจับ ถ้านายษิทราเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ถูกต้องนำพยานหลักฐานเป็นเท็จไปเสนอต่อศาลก็ชอบที่จะไปฟ้องร้องต่อศาลฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ใช่มาร้องที่กรรมาธิการกฎหมายและถ้าใครปล่อยให้มีการใช้กรรมาธิการฯแบบนี้ คนนั้นก็มีความผิดตามมาตรา 157เช่นกันครับ”นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย