ด้วยประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าว ต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา อีกทั้งยังเกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีนโยบายจากนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่ม GDP ประเทศไทย อีก 1 ล้านล้านบาท ภายใน 6 ปี ซึ่งในเรื่องนี้ทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานไว้อย่างน่าสนใจ ดำเนินงานจะผ่านแนวคิด 3 ด้าน ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่ม GDP ประเทศไทย อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี ดังนั้นทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงหลักในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงพร้อมสนับสนุนและเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ตามนโยบาย BCG ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานจะผ่านแนวคิด 3 ด้าน ดังนี้ 1.เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) นำความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง คุ้มค่า 2.เศรษฐกิจ หมุนเวียน ( Circular Economy) มุ่งลดของเสีย ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด 3.เศรษฐกิจสีเขียว ( Green Economy) คำนึงถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ นายพิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬาให้สะอาด สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้นำแนวคิด BCG Model มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการการท่องเที่ยวและการกีฬาสีขาว เพื่อผลักดันให้ BCG Model ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการขับเคลื่อนทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนการระดมสมอง 2. ขั้นตอนการถอดบทเรียนและบูรณาการการแก้ไขปัญหากับพื้นที่ 3. ขั้นตอนแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์ 4. ขั้นตอนการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการระดมสมอง โดยได้มอบหมายให้ 8 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมกันจัดสัมมนา work shop ระดมสมอง วิเคราะห์ปัญหาการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศในปัจจุบัน ผ่าน 4W’s & 1H คือ What?Where? When? Why? และ How? เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดย ครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 11-13 มีนาคม 2564 จังหวัดราชบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวและกีฬาในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วยภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี และจะมีการจัดสัมมนา work shop ระดมสมอง อีกทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง) ภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี) และภาคตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง) ต่อไป ขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดล BCG อีกทั้ง นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ขณะที่โมเดลเศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ BCG Model คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม