เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ ศบค.และนายกรัฐมนตรี ที่จัดให้มีการบูรณาการในการบริหารและจัดการวัคซีนและเปิดโอกาสให้ อปท.ได้มีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ขอตั้งข้อสังเกตเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและความรวดเร็วในการจัดหาวัคซีน ไว้รวม 5 ประการ ประกอบด้วย
1..นายกฯ ต้องติดตาม และเร่งรัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐตามข้อ 3 ของประกาศ ศบค.ลงวันที่ 8 มิ.ย. 64 และประเมินผลการปฏิบัติงานทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า เมื่อได้รับการร้องขอจาก อปท. หรือ ภาคเอกชน เพราะการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ไม่มีวันหยุด
2.เปิดกว้างในการนำเข้าวัคซีนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WHO เพื่อมิให้มีการผูกขาด หรือ กีดกัน หรือ สร้างเงื่อนไข กับบริษัทผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด
3.รัฐบาลต้องออกแนวทาง หรือ หลักเกณฑ์ หรือ วิธีการ หรือ ขั้นตอน หรือ ข้อปฏิบัติที่เรียกเป็นอย่างอื่นในการจัดหาวัคซีน หรือ จัดทำคู่มือให้ อปท.และภาคเอกชนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและการตรวจสอบของ ศบค. หรือ กลไกของรัฐที่เกี่ยวข้อง
4.ลดอุปสรรคของการบริหารการจัดการภาครัฐ ตลอดจน เร่งรัดในการแก้ไข กฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยให้ถือเป็นเรื่องสำคัญและถือว่า 'ชีวิตของ ปชช.' เป็นเรื่องใหญ่และ 'เศรษฐกิจ' ของประเทศเป็นเป้าหมาย
5.ต้องตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในกระบวนการจัดหาวัคซีน และต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากตรวจพบ หรือ สืบทราบได้ว่ามีการฉ้อฉลและทุจริต หรือ เจ้าหน้าที่มีการเจรจาและต่อรองหาเงินเข้าพกเข้าห่อ
"ผมมีเจตนาเพื่อให้การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ได้เข้าถึง ปชช.โดยทั่วถึง และรวดเร็ว อันจะเป็นการสร้าง'ภูมิคุ้มกันหมู่' ให้เกิดกับประเทศ และเกิดการยอมรับจากสากลที่ทุกฝ่ายต่างต้องให้ความร่วมมือ และหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ต้องไม่ถือเป็นเรื่องการเมือง หรือเป็นเรื่องที่เสนอจากฝากฝั่งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยามนี้ต้องพูดภาษาเดียวกัน"
นายสุพจน์ กล่าวว่า ภาพรวมท้องถิ่น หรือ อปท. มี (ก) เงินสะสมซึ่งมีอยู่ประมาณสี่แสนล้านบาท (ข) เงินจาก 'กองทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' และ (ค) เงินรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองและที่รัฐบาลจัดสรรให้ เพียงพอ แต่อยู่ที่ว่า ท้องถิ่น หรือ อปท. จะบริหารจัดการเงินรายได้ เงินกองทุนและเงินสะสม (ที่หักเงินสำรองตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยและภาระผูกพันสำหรับงบบุคลากรสามเดือน รวมถึง เงินกันสำรองร้อยละ 10 สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของท้องถิ่น ตลอดจนภาระตามที่ก่อหนี้ผูกพัน) อย่างไรให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง