เลื่อนเปิดเทอม อย่างไม่มีกำหนดหลังแปดริ้วยังคงเป็นพื้นที่สีแดง ที่ยังต้องควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ขั้นสูงสุด พร้อมออกคำสั่งให้รอการประเมินจากคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดเป็นระยะจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง
วันที่ 9 มิ.ย.64 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการเผยแพร่ประกาศจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายไมตรี ไตยติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวกับเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อคืนที่ผ่านมา (20.58 น.) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 29/2564 ลงวันที่ 8 มิ.ย.64 นั้นยังไม่อนุญาตให้สถานศึกษาในพื้นที่มีการเรียนการสอนตามปกติในช่วงเวลานี้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ หากสถานการณ์คลี่คลายหรือบางโรงเรียนมีความพร้อม หรือผ่านหลักเกณฑ์ประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) ให้เสนอผ่านต้นสังกัดพิจารณาประเมินในชั้นต้นก่อนเสนอมายังคณะกรรมควบคุมโรคระดับจังหวัดเป็นรายกรณีไป
โดยให้สถานศึกษาทุกประเภท ทั้งในระบบและนอกระบบในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา สามารถจัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนได้ในรูปแบบการเรียนการสอนผ่านทีวีระบบเคเบิ้ลและดาวเทียม อินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชัน และจัดหนังสือแบบฝึกหัดใบงานให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้การช่วยเหลือของผู้ปกครอง จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นได้มีการเลื่อนการเปิดทำการเรียนการสอนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 17 พ.ค.64 มาเป็นในวันที่ 14 มิ.ย.64 ที่ใกล้จะถึงในต้นสัปดาห์หน้า โดยได้มีการเปิดทำการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์ ทั้งช่องทางผ่านโปรแกรมซูม และแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงเว็บไซด์ของทางโรงเรียน ที่มีการเตรียมการทำมาก่อนหน้าแล้วนับจากวันกำหนดการเปิดภาคเรียนเดิมในวันที่ 17 พ.ค.64 ที่ผ่านมา
แต่ระบบการเรียนการสอนยังคงมีอุปสรรคหลายด้าน โดยที่นักเรียนบางรายไม่มีผู้ปกครองคอยควบคุมดูแล เนื่องจากหลายครอบครัวต่างต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว จึงทำให้เด็กนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ยังไม่สามารถที่จะเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมาย ขณะที่บางรายนั้นยังมีอุปกรณ์และระบบการสื่อสารที่ไม่ดีเพียงพอ และมีอุปสรรคเกี่ยวสัญญาณสะดุดหรือหลุดหาย จึงทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่องในระหว่างที่กำลังเรียนรู้อยู่ด้วย