ผู้ว่าฯฉะเชิงเทรา เผยวันแรกประชาชนฉีควัคซีนไปแล้วกว่า 5,000 รายและไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่มติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ฯ วันที่14 มิ.ย. เรียนออนไลน์เหมือนเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (8 มิ.ย.64) ที่ห้องประชุมมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ศาลากลางจังหวัดฯ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี สาธารณสุขอำเภอ 11 อำเภอ ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ และติดตามผลดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวภายหลังการประชุมฯว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลในเดือนมิถุนายนนี้ จำนวน 40,000 คน ซึ่งได้ฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ดีเดย์พร้อมกันทั่วประเทศ โดยได้ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม อสม. โรงพยาบาล และผ่านช่องทางที่ทางจังหวัดกำหนด ฉีดไปได้ 5,000 กว่ารายแล้ว ตามสถานที่กำหนด12 จุด คือ อำเภอเมือง ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ส่วนอีก 10 อำเภอนั้น ที่โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง ซึ่งผลปรากฏไม่มีผลข้างเคียงใดๆหรือว่าฉีดเป็นอันตราย ต่อสุขภาพ มีแต่ว่าความดันขึ้นและเจ้าหน้าที่ให้นอนพัก เพราะเกรงว่าถ้าให้กลับบ้านแล้ว ไม่ไปพักผ่อนและไปทำงานต่อ อาจจะอันตรายต่อสุขภาพได้ ฉะนั้นตอนนี้ไม่มีผลข้างเคียงใดๆทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้กล่าวต่อถึงการการเรียนออนไลน์ เรียนหนังสือในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา วิทยาลัยเทคนิค และโรงเรียนเอกชน ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2564 ให้ทุกโรงเรียนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเปิดเรียนได้ แต่ต้องเรียนออนไลน์ คือเรียนที่บ้าน โดยมีเทคโนโลยีในระบบ VTR ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนับสนุนการเรียนการสอนอยู่ ให้เรียนออนไลน์ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ในจังหวัดฉะเชิงเทร่าได้สำรวจโรงเรียนทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่เกือบ 80% ไม่อยากให้เปิดเรียน ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีมติให้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เรียนออนไลน์เหมือนเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก็คือทุกโรงเรียนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เปิดเรียนได้แต่เรียนแบบออนไลน์ คือต้องเรียนที่บ้านและห้ามเรียนที่โรงเรียน เพราะวันนี้สถานการณ์ทางโรงเรียนมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวนประมาณ 10 คน โดยได้เข้ารับการรักษาและกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว ซึ่งไม่น่ากังวล แต่ผู้ปกครองและเด็กอื่นๆยังกังวล เลยให้เรียนออนไลน์ต่อ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะให้เรียนที่โรงเรียนได้ต่อไป