เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม อย่างบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในเขตชลประทานก็ไม่อาจหลีกหนีสภาวะฝนทิ้งช่วงไปได้ รวมไปถึงบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางบางส่วน รวมถึงภาคใต้ ซึ่งจากสภาพอากาศที่ผ่านมาแม้จะเชื่อกันว่าปีนี้อาจจะมีฝนตกเยอะ แต่ความเป็นจริงแล้วฝนยังตกไม่มากพอตามความต้องการของเกษตรกร ฉะนั้นการปฏิบัติการฝนหลวงจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยบรรเทาสภาวะฝนทิ้งช่วงเพื่อให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นสภาวะนี้ไปได้ และจากแผนที่อากาศพื้นผิวของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 07.00 น. ได้มีหย่อมความกดอากาศต่ำทางตอนเหนือของประเทศไทย บริเวณประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม มีโอกาสพัฒนาตัวเป็นร่องฝนส่งผลให้อิทธิของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ความชื้นเพิ่มมากขึ้นจึงมีแนวโน้มทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั้งบริเวณทางด้านตะวันตกของประเทศตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคกลาง และด้านตะวันออกของประเทศตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบประเทศ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงได้แจ้งเตือนประชาชนในบริเวณดังกล่าวถึงการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยขอให้ฟังประกาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงฯ เมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน และ อ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 แห่ง ส่วนด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดย 3 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงมีแผนฯ ที่จะปฏิบัติในช่วงเช้าของวันนี้ คือ -หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่เป้าหมาย บริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา -หน่วยฯ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่เป้าหมาย บริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก -หน่วยฯ จ.ลพบุรี มีพื้นที่เป้าหมาย บริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.ชัยนาท และอุทัยธานี สำหรับอีก 10 หน่วยปฏิบัติการจะขอติดตามสภาพอากาศในระหว่างวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100