พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen ระบุว่า...
“สื่อมวลชนกับการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย”
.
ในระยะที่ผ่านมามีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายในสื่อต่างๆ มากขึ้น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีต่อประชาชนในวงกว้าง และมีความกังวลต่อการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชนในประเทศไทย เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาวิจัยต่างๆ พบชัดเจนว่าการรับรู้ข่าวการฆ่าตัวตายมีโอกาสชักนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายตามมาได้
.
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อคิดเห็นต่อการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ซึ่งสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการหลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบที่มีต่อผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ดังนี้
.
1. การเสนอข่าวควรระมัดระวัง ไม่ทำเป็นข่าวพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสีสัน หรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ
.
2. หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ
.
3. หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุ หรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผู้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับตน มองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา
.
4. ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอข่าวผู้ฆ่าตัวตายที่เป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งสะเทือนใจ ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้สูง
.
5. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ฆ่าตัวตาย
.
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
8 ตุลาคม 2558