นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ค.64 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกสามในไทย รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค. 64) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 126.40
ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ แผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
โดยผลสำรวจ ณ เดือน พ.ค.64 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.37 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ระดับ 118.75 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคงตัวที่ระดับ 120.00
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน พ.ค. 64 SET index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13-1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรก ตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงกลางเดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอาจลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดการไว้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศซึ่งพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายแห่งในกรุงเทพ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันรายต่อวัน การพบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย และความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยมีปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ค. SET index ปิดที่ 1,593.59 จุด
ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงมีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,600-1,650 จุด แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นคงไม่มากเหมือนกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดฯ ยังคงติดตามการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 และการเปิดประเทศเพื่อที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งหากภาพรวมมีความชัดเจนแล้ว จะกลับทบทวนเป้าหมายดัชนีปี 64 อีกครั้ง
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อาทิ มาเลเซีย เวียตนาม
โดยในส่วนของปัจจัยในประเทศได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้
"ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เห็นชัดๆคงเป็นปี 65 หลังจากที่การกระจายตัวของวัคซีนทำได้มาก และเกิดความชัดเจนในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ปรับขึ้นก็คงไม่มาก เพราะก่อนหน้านี้ขึ้นมาด้วยความหวัง แต่ครึ่งปีหลังนี้คือการลงมือทำก็ต้องมาคอยติดตามกันว่าจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่"
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิ.ย. 64 ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.รอบเดือน ก.พ.นี้อยู่ที่ระดับ 47 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้ว และยังอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือน มิ.ย.64 กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และ ธปท. ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและ SME ต่างๆ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง
โดยดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" โดยดัชนีปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 น่าจะไม่แตกต่างไปจากวันที่ทำการสำรวจ (21 พ.ค. 64) ที่ระดับ 1.06% และ 1.86% ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ภาพตลาดตราสารหนี้ พบว่า มีเงินไหลเข้าในตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.64 อยู่ที่ 30,678 ล้านบาท และหากแยกตามอายุ เข้ามาในพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี 49,831 ล้านบาท แต่ก็มีการขายทำกำไร และครบอายุ 7,999 ล้านบาท ดังนั้นสถานการณ์ยังคงเป็นการไหลเข้าสุทธิ
ส่วนการออกหุ้นกู้เอกชนนั้น พบว่าในช่วง 5 เดือนแรก มีการออกหุ้นกู้ระยะยาว 380,779 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 138,166 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57% และยังมีแนวโน้มออกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังด้วย ดังนั้นเชื่อว่าในปีนี้การออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งหมดจะไม่ต่ำกว่า 750,000 ล้านบาทแน่นอน