เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมาแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่การเกษตรประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง ไม่ว่าจะอยู่ในเขตชลประทาน หรือนอกเขตชลประทาน รวมถึงอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ ที่พบว่ามีปริมาณน้ำใช้การอยู่น้อยกว่า 30% หลายแห่ง แต่อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทุกพื้นที่ให้ได้รับความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด และได้รายงานแผนที่พื้นผิวอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 07.00 น. ว่าขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำทางตอนบนของประเทศลาว และอ่าวตังเกี๋ย ส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนอยู่ในขณะนี้ อาจทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีโอกาสเสี่ยงฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง รวมถึงพายุลูกเห็บ ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ ได้ติดตามสถานการณ์พายุลูกเห็บอยู่ตลอดเวลา หากมีตรวจสอบสภาพอากาศแล้วพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดพายุลูกเห็บก็พร้อมที่จะปฏิบัติการเพื่อบรรเทา และยับยั้ง ความรุนแรงจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ระมัดระวังจากภาวะเสี่ยงฝนตกหนักกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว และให้ติดตามการประกาศเรื่องสภาวะอากาศจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงฯ เมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดยทั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะขอติดตามสภาพอากาศในช่วง หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100