นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมดูแลการจัดเก็บค่าส่วนแบ่งการขาย (จีพี) ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร (ฟู้ดเดลิเวอรี่) เรียกเก็บจากร้านอาหาร ที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม ให้มีความเป็นธรรม และเหมาะสม เพราะได้รับการร้องเรียนจากร้านอาหารรายกลางและเล็กจำนวนมากว่า แพลตฟอร์มบางรายเรียกเก็บในอัตราสูงมาก ดังนั้นกรมจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาโครงสร้างการจัดเก็บ ก่อนที่จะกำหนดแนวทางการจัดเก็บค่าจีพีให้เหมาะสมต่อไป "ปัจจุบัน แพลตฟอร์มเก็บค่าจีพีอยู่ที่ 30-35%หรือประมาณ 180-200 บาทต่อ 1 การสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ในจำนวนนี้ แพลตฟอร์มบอกว่า ต้องแบ่งไปให้ไรเดอร์ (พนักงานส่งสินค้า) ด้วย 10-40 บาท และอีกบางส่วนเอามาเป็นส่วนลดราคาอาหารให้กับลูกค้า ถ้าลูกค้าสั่งซื้อไม่ถึง 100 บาท แพลตฟอร์มจะขาดทุน แต่ถ้าเก็บมากไป ร้านอาหารรายเล็กๆแทบไม่ได้อะไรเลย ตรงนี้ต้องมาดูความเหมาะสม ซึ่งคณะอนุกรรมการจะพิจารณากำหนดแนวทางการจัดเก็บที่เหมาะสม และทุกฝ่ายอยู่ได้" ขณะเดียวกันจะพิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลธุรกิจบริการซื้อขาย และ/หรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ด้วย เพราะธุรกิจดังกล่าวอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 63 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมายต่อไป โดยจากการหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มรายเมื่อเร็วๆนี้ได้แก่ Lineman,GRAB,Foodpanda,Robinhood, Gojekทุกรายยืนยันว่า ไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าจีพี และค่าขนส่งในขณะนี้ เพราะทราบดีว่า ร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงมาก และต้องการช่วยเหลือร้านอาหารด้วย โดยแพลตฟอร์มบางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าจีพีหรือไม่ ส่วนแพลตฟอร์มบางรายไม่ได้เก็บค่าจีพีอยู่แล้ว หรือเก็บเฉพาะจากร้านอาหารรายใหญ่เท่านั้น สำหรับในเร็วๆนี้จะประชุม กกร.เพื่อพิจารณาทบทวนบัญชีสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 64 ซึ่งจะต้องพิจารณาทบทวนทุกปี คาดว่า ในปีนี้ จะไม่ถอดสินค้า หรือบริการใดออกจากบัญชีควบคุม หรือไม่เพิ่มเข้ามาในบัญชี เพราะขณะนี้สถานการณ์จำหน่ายสินค้าและบริการ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่มีสินค้ารายการใดปรับขึ้นราคามากๆจนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน แต่อาจจะพิจารณาเพิ่มความเข้มงวด หรือผ่อนคลายการใช้มาตรการกำกับดูแลให้เกิดความเหมาะสมกับสินค้าและบริการควบคุมแต่ละรายการมากกว่า