เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมวางแผนควบคุมการใช้น้ำในแม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำปิง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา) และลำน้ำสาขา เพื่อเร่งลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ทางตอนล่าง ช่วยเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปก่อนหน้านี้และสนับสนุนน้ำเพื่อการผลิตประปา ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาล มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงในขณะนี้ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานความร่วมมือกันเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งกรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นปรากฏการทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานวางแผนเก็บกักน้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีน้ำพอใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 34,980 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้เพียง 11,049 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,187 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้เพียง 1,491 ล้าน ลบ.ม ในขณะที่ลุ่มเจ้าพระยา มีพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีปี 64 ไปแล้วกว่า 3.7 ล้านไร่ หรือ 47% ของพื้นที่ทั้งหมด ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 12 มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วประมาณ 1.2 ล้านไร่ คิดเป็น 56%ของแผนเพาะปลูก
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำนักงานประชลทานที่ 12 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ไปแล้ว 42 เครื่อง และเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีระดับต่ำมาก จนไม่สามารถไหลเข้าโครงการเจ้าพระยาใหญ่ผ่านคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสักได้โดยแรงโน้มถ่วง ในเบื้องต้นกรมชลประทานได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่รวม 8 เครื่อง ทำการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองส่งน้ำชัยนาท–ป่าสัก ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์วันละประมาณ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ช่วยสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา และการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 24 แห่ง รวม 31 แห่ง ให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถารการณ์ในภาวะเร่งด่วนนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ลงมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ได้เดินทางมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาแล้วเมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.64) จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 3 และ 4 ที่อยู่ทางตอนบน ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำรวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำในแม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา) และลำน้ำสาขา เป็นการชั่วคราว พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามรอบเวรการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึงกัน ทั้งนี้ได้เร่งลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนให้มากที่สุด และให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด