กรมการแพทย์ระบุ แผลที่ถูกแมวกัดมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าแผลสุนัขกัดเป็น 2 เท่า ด้วยเขี้ยวที่แหลมและยาวกว่าฝังเนื้อได้ลึกกว่า แนะถูกแมวกัดต้องสังเกตอาการ หากปวดแผลมาก มีไข้ เพลีย มีเนื้อตายสีดำลุกลามเร็วต้องรีบหาหมอ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีสาวถูกแมวที่เลี้ยงไว้กัดที่เท้า สุดท้าย เนื้อตาย ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อจากน้ำลายแมวนั้น ขอเรียนว่า สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม บางครั้งสุนัขและแมวอาจกัดข่วนคนที่เล่นกับมัน เพราะสัตว์เลี้ยงถูกทำให้ตกใจ แมวมีเขี้ยวแหลมยาวกว่าเขี้ยวสุนัข จึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลึกเข้าไปในกระดูกและข้อ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของแผลแมวกัด ส่วนมากเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคน ที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลแมวกัด ผู้ที่ถูกสัตว์กัดที่ไปพบแพทย์หลัง 8 ชั่วโมง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนมากบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยว รอบๆ จะมีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง ที่เรียกว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน” แบคทีเรียจะปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวดแผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล เนื้อตายสีดำเป็นแหล่งที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะให้พักรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด
ทั้งนี้ แนะนำเพิ่มเติมว่า แนวทางการดูแลรักษาแผลแมวกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ หรือน้ำยาฟอกฆ่าเชื้อ ถ้ามีหนอง ให้เจาะระบายหนอง ถ้าเป็นแผลฉีกขาดเพราะแมวขย้ำ เป็นแผลเปิด ไม่ควรเย็บแผล ปล่อยแผลเปิด และล้างแผล ป้องกันการติดเชื้อลุกลามในเนื้อเยื่อชั้นลึกใต้ผิวหนัง อย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย หากสัตว์เลี้ยงไม่เคยฉีดวัคซีน คนที่ถูกกัดต้องรีบฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ยาปฏิชีวนะที่ควรใช้ฆ่าเชื้อครอบคลุมแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อ คือ amoxicillin/ clavulanic acid ที่แพทย์จะสั่งจ่าย รับประทาน 7-10 วัน