วันที่ 5 มิ.ย.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า "การจัดงบประมาณปี 65 เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติแต่ไม่ตอบสนองความเป็นจริงในสังคม เพราะคำว่า ‘ชาติ’ ตามยุทธศาสตร์นั้น ‘เป็นชาติของ คสช. ไม่ใช่ชาติของประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ’ เมื่อวันที่ (4 มิถุนายน 2564) ที่รัฐสภา ผม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรับรองร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ว่า ไม่ตอบโจทย์ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ทำไมงบสวัสดิการของประชาชนถึงลดลง 10% ขณะที่ยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 แต่งบราชการยังเพิ่มสูงขึ้น? และยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงบโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ยังคงสูงมากเป็นลำดับที่ 4 แต่กลับมีการปรับลดในส่วนของประกันสังคม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และงบประมาณสปสช. ทำให้มีข้อกังวลว่าจะทำให้มีการปรับลดลงอีกหรือไม่ในวาระที่ 2 2.การจัดงบครั้งนี้ยังพบวิกฤตการณ์ของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะเงินอุดหนุนประชาชนใน 3 นโยบาย ได้แก่ นโยบายดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี และนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุที่ยังไม่มีการปรับขึ้น รวมถึงเบี้ยนโยบายคนพิการก็ยังเท่าเดิม แต่เงินสวัสดิการราชการกลับมากกว่าสวัสดิการของประชาชน เพราะงบประมาณ 40% ล้วนแต่เป็นเงินข้าราชการที่มาจากงบประมาณของประเทศ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับกำลังพล กองทัพ มากกว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาหรือไม่ ซึ่งดูได้จากงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ 3.วิกฤตการณ์โควิดและไม่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงเดินทางมายื่นหนังสือถึงกมธ. เพื่อขอให้พิจารณาและให้ครม.ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่ ผม พ.ต.อ.ทวีฯ ได้กล่าวแสดงความเห็น ว่า “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เป็นกฎหมาย เราจะต้องทำกฎหมายให้เกิดประโยชน์กับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศเผชิญวิกฤต ชีวิตมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าวัตถุ แต่การจัดสรรงบประมาณปี 2565 กลับให้ความสำคัญกับวัตถุ เช่น การก่อสร้าง การจัดซื้ออาวุธร มากกว่าชีวิตของประชาชน ตนในฐานะของกรรมาธิการจึงจำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของกรรมาธิการคนอื่นๆ ไปจนถึงรัฐบาลให้เห็นว่า ประชาชนไม่ใช่ลูกหนี้ ไม่ใช่ผู้รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลและข้าราชการต่างหากที่เป็นหนี้ประชาชน เพราะเงินเดือน ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น ฝากถึงข้าราชการที่บอกว่าการจัดสรรงบประมาณฉบับนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบสนองความเป็นจริงในสังคม และคำว่าชาติตามที่ยกมากล่าวอ้างเป็นชาติของ คสช. ไม่ใช่ชาติของประชาชน ‘สิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า’ ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นทำ ทำให้คนมีโอกาสเท่ากัน แต่วันนี้[รัฐบาล]กลับทำลายสิทธิความเป็นมนุษย์ด้วยการพิจารณาข้อมูลว่าคุณน่าสงสาร คุณเป็นคนลำบาก แล้วฉันจะหยิบยื่นเงินให้เป็นการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดอย่างยิ่ง"