ม.มหิดล - GC ริเริ่มโครงการ "YOUเทิร์น" คืนขวดพลาสติกใส พัฒนาการแพทย์" จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน เวียนมาทุกปี เพื่อคอยเตือนให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า ควรมีส่วนร่วมทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไป ด้วยแนวคิด "Circular Living" หรือการปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและคุ้มค่า กำลังกลายเป็นความหวังของทุกชีวิตบนโลกยุคใหม่ที่ยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ดำเนินโครงการเพื่อปลูกฝังแนวคิด "Circular Living" ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และ GC ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
มาในช่วงวิกฤติ COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดล และ GC ได้ริเริ่มจัดโครงการ "YOUเทิร์น" คืนขวดพลาสติกใส พัฒนาการแพทย์" เพื่อการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรม Circular Living ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดโลกร้อน และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วย COVID-19 ได้ในเวลาเดียวกัน โดยได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถนำส่งขวดพลาสติกใสที่ใช้แล้วเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อทำการ Upcycling ซึ่งเป็นกระบวนการแปรรูปวัสดุใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นเสื้อโปโลมาจำหน่าย โดยรายได้หลักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบแก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัย COVID-19
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกรให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ขวดพลาสติกใสที่บริจาคทุก 1 ขวด ทาง GC จะร่วมสมทบเงินบริจาคให้เท่ากับ 10 บาท โดยโครงการฯ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,000 ใบ ซึ่งเมื่อสามารถรวบรวมขวดพลาสติกใสที่ใช้แล้วได้ครบตามจำนวนแล้ว จะนำมาทำความสะอาดอีกครั้ง ก่อนนำไปย่อยเป็นเศษพลาสติก แล้วปั่นเป็นเส้นใยเพื่อทอเป็นผืนผ้าสำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อโปโลต่อไป โดยขวดพลาสติกใส 8,000 ใบ สามารถนำไป Upcycling ผลิตเป็นเสื้อโปโลได้ 400 ตัว กำหนดวางจำหน่ายเนื่องใน “วันมหิดล” 24 กันยายน 2564 รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะสมทบทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัย COVID-19 ต่อไป ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Mahidol University Sustainablity หรือ https://www.facebook.com/mahidolsdgs
ซึ่งขวดที่รับบริจาคเข้าโครงการฯ ได้แก่ ขวดที่ทำจากพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า PET มีลักษณะเป็นพลาสติกใส ซึ่งได้แก่ ขวดน้ำดื่มพลาสติกใส หรือขวดน้ำอัดลมพลาสติกใสต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลสามเหลี่ยม และหมายเลข 1 ที่ขวด ซึ่งผ่านการทำความสะอาดในเบื้องต้นแล้วโดยแยกฝาขวด กับฉลากออก สาเหตุที่รับบริจาคเฉพาะขวด PET หรือ ขวดพลาสติกใส เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อใช้สำหรับทอผ้าได้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการหนักจำเป็นต้องใช้ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องออกซิเจนแรงดันสูง เป็นต้น นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการนำเอาขวดพลาสติกใสที่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งถึงแม้ขยะที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ประมาณร้อยละ 50 จะเป็นขยะติดเชื้อที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ แต่ก็ได้มีการกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน และจะได้นำเอาขยะรีไซเคิลประเภทขวดน้ำพลาสติกใสมาเข้าร่วมโครงการฯ อีกด้วย
"การติดเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ซึ่งได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ซึ่งถูกจำกัดด้วยระยะเวลาของการติดเชื้อ และอุณหภูมิความร้อน ซึ่งเสื้อ Upcycling ที่ทำจากขวดพลาสติกใช้แล้วนั้นต้องผ่านกระบวนการในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนผ่านความร้อน จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กล่าว
ขอเชิญร่วมรักษ์โลกด้วยการนำส่งขวดพลาสติกใสเพื่อนำไป Upcycling ผลิตเป็นเสื้อโปโลจำหน่ายรายได้เพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัย COVID-19 กับโครงการ "YOUเทิร์น" คืนขวดพลาสติกใส พัฒนาการแพทย์" ม.มหิดล - GC ได้ที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ใน 4 จุด ได้แก่ บริเวณประตู 4 หอพักนักศึกษา อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล (MLC) และกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2441-4400 ต่อ 1210-13